ปลานิลแดดเดียว@ขอนแก่น
ในน้ำมีปลา ในนามีขาว เมืองไทยอุดม ไม่อดตาย แบ่งปันข้าว ปลากันกิน อาหารบ้านๆของชาวไร่ ชาวนา มีข้าวเหนียว ปลาสักตัว แจ่วบองสักถ้วย ก็อยู่ท้อง ไปดำนาได้อีกทั้งวัน
ยุคก่อน “ปลา” ในน้ำ ลงงม ทอดแห ตกเบ็ด ได้ทุกยาม มาวันนี้ อาจต้องเลี้ยงไว้กิน เพราะคนมาก กินมาก ปลาโตไม่ทัน จึงมีฟาร์มปลา ฟาร์มกุ้ง และสัตว์ประเภทอื่นๆ สำหรับมนุษย์บริโภคตามความต้องการของตลาด หรือคนที่อยากกิน
ตามตลาดสด ตลาดนัด เรามักจะเห็นชาวบ้านจับปลามาขาย เป็นปลาท้องนา แบบบ้านๆ เหลือกิน นำมาขาย พอได้เงินเข้าบ้าน บางวันอาจขายไม่หมด จึงมีการถนอมอาหารเข้ามาช่วย เป็นปลาร้า ปลาแห้ง ปลาแดดเดียว
“กลุ่มแม่บ้านห้วยซัน” ตำบลศิลา อำเภอเมือง ขอนแก่น-บ้านเฮา รวมตัวกัน เป็นกลุ่มเล็กๆ ราว 5-6 คน เมื่อปี 2560 นำโดยประธานกลุ่ม-นางอุดม จุ้มอังวะ หมู่บ้านนี้ตั้งอยู่ติดลำน้ำพอง มีปลา กินได้ทั้งปี จากเดิมที่จับปลาตามธรรมชาติ วันนี้มีกระชังเลี้ยงปลา จึงใช้ภูมิปัญญา นำปลามาแปรรูป และสุดท้ายตกลงใจ ลงมติ ลงตัวกันที่ “ปลานิลแดดเดียว”
“ปลานิล” เป็นปลาประวัติศาสตร์คู่บ้าน คู่เมือง มานาน กว่า 55 ปี เป็นพันธุ์ปลาที่ สมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโต แห่งประเทศญี่ปุ่น น้อมถวาย ในหลวงรัชกาลที่ 9 และทรงทดลองเลี้ยงภายในพระราชฐานสวนจิตลดา จึงมีชื่อว่า “ปลานิลจิตรลดา” จากนั้นทรงพระราชทานให้กรมประมง ไปทำการขยายพันธุ์ แจกจ่าย เป็นแหล่งโปรตีนให้ปวงชนชาวไทย เมื่อราวปี 2510 จากนั้น จึงเป็นปลาที่ประชาชน ได้เลี้ยง ได้บริโภค ทั่วประเทศ เป็น “ศาสตร์พระราชา” หล่อเลี้ยงชีวิต “ลูกไทย” ทุกคนมาจนถึงวันนี้ ให้เทิดไว้เหนือหัว
“กลุ่มแม่บ้านห้วยซัน” ช่วยกันเรื่องงานแปรรูป มีเงินทุนสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีจังหวัดขอนแก่น เมื่อปี 2561 นำมาเป็นเงินทุน ซื้อเครื่องมือ มาช่วยทำงาน และเป็นเงินหมุนเวียน ความขยัน ซื่อสัตย์ ทำงานบนความตั้งใจ บวกกับมีหลายหน่วยงานเข้ามาสนับสนุนเมื่อเป็นความเข้มแข็ง ตั้งใจทำกิน กลุ่มจึงสามารถคืนเงินกู้ก้อนนี้ได้หมดแล้ว ทำให้ได้รับเครดิต พวกเธอจึงมั่นใจที่จะเดินหน้าต่อ กับการพัฒนาสินค้าและขายยอดขาย เมื่อลูกค้าเข้ามาอุดหนุนมากขึ้น
“ปลานิลแดดเดียว” เป็นอาหารประเภทปลา ที่ตอบโจทย์คนรักสุขภาพ เลี่ยงที่จะรับทานสัตว์ใหญ่ กินปลากันเถอะ มีแบบไร้ก้างด้วยนะ ไม่ต้องกังวลใจไปล่ะ
แบ่งกันทำงาน ทำปลากันทุกเช้า แดดบ้านเรา ร้อน สว่างฟ้า ใช้พลังแสงอาทิตย์มาช่วยให้ปลาเนื้อแห้ง มาดๆ เหมาะที่จะนำไปทำอาหาร หลายเมนู ตามชอบใจ บรรจุใส่ถุงสูญญากาศ ช่องทางการตลาด ทั้งขายตรง วางขาย สั่งล่วงหน้า พวกเธอเริ่มคุ้นกับการขายผลิตภัณฑ์ที่ทำเองกับมือ จึงพูดได้อย่างเต็มปาก เต็มคำ
“ปลานิลจิตรลดา” จึงเป็นศาสตร์พระราชา ที่ฟองฟูอยู่ในหัวใจคนไทย ตลอดมา และตลอดไป….
“ปลานิลจิตรลดา” ใช้เวลาเลี้ยง ราว 5-6 เดือน ตัวโตขนาด เกือบ 2 กิโลกรัม
น้ำหนักปลา 2.5 กิโลกรัม สามารถทำปลาแดดเดียว ได้ 1 กิโลกรัม หรือ 2.5 : 1 ดังนั้น ราคาขายจึงต้องคำนวนตามน้ำหนักปลา ขอให้เข้าใจกันนะ
แหล่งโปรตีน ทั้งเนื้อ และก้างกรอบ-เพิ่มแคลเซียม
ภูมิปัญญา การถนอมอาหาร เป็นเครื่องมือทำมาหากินได้