จากอันดามัน ถึง ฝั่งลำน้ำพอง (สตูล ถึง ขอนแก่น) ตอนที่ 1/4
คอลัมน์ “รู้จริง ถิ่นเฮา”
….เรื่องเล่า อ่านสนุก ซอกมุมของบรรพบุรุษ และมองออกไปเบื้องหน้า ในบริบทของ เศรษฐกิจ สังคม การเมือง เมื่อทุกเรื่องม้วนร้อย เป็นมิติเดียวกัน เหลืองสะพรั่งของดอกคูน และ เสียงแคน แล่นแต้ มาแล้ว………….
เมื่อเมืองไทย ปลดล็อก-เปิดเมือง ในเฟส 3-4-5 หลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย ผู้คนออกเดินทาง ออกจากบ้าน ออกไปทำงาน ออกไปท่องเที่ยว เพื่อปล่อยวางความเครียดส่วนหนึ่ง และมีส่วนช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ได้อีกทางหนึ่ง…..
เมื่อ นครขอนแก่น ถูกวาง (อีกหนึ่ง) โรดแมฟ ให้เดินไปสู่เส้นชัยของการ เป็น “เมืองอุทยานธรณีโลก” หรือ GEO Park เรื่องจึงต้องขยาย…..
ถาม : GEO Park มีความสำคัญ และจำเป็นอย่างไร ? จึงจะต้อง มีความพยายามขอรับการรับรองจาก UNESCO ทั้งที่มีกติกา มีข้อสอบโหดๆ หลายต่อหลายข้อ และใช้เวลาหลายปี
ตอบ : เป็นกลยุทธ ให้คนอยู่กับธรรมชาติ รักหวงแหนถิ่นเกิด ทำมาหากินในพื้นที่ จากจุดขายของ แนวโน้มความนิยมของชาวโลก ที่มีการเรียนรู้ ควบคู่กับวิถีการท่องเที่ยว ยอดนิยม สัมผัส เรียนรู้ โลกโบราณ ความเป็นมาในอดีตของธรรมชาติ เรียกกันว่า เป็น GEO Tourism
พวกเราคงเคยเห็น ฝรั่ง มาเที่ยวเมืองไทย พวกเขานิยมไปวัด โบราณสถาน พิพิธภัณฑ์ ปีนเขา เข้าถ้ำ นั่นแหละ….เทรนด์มาแรง ชาวโลกเขาเดินมาทางนี้กัน รวมทั้งคนไทยด้วยเช่นกัน
โลกฝั่งตะวันตก เขาทำเรื่องนี้กันมานานมากแล้ว ย้อนเวลา ของเมืองไทย เริ่มให้ความสนใจเรื่องนี้ โดยกรมทรัพยากรธรณี เมื่อปี 2549 ที่มีความพยายาม พัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเชิงธรณีวิทยา
ปีรุ่งขึ้น เริ่มความร่วมมือข้ามกรม ไปยัง กรมอุทยาน……เพราะเป็นพื้นที่สำรวจ ปี 2555 พลิกบทการพัฒนา ถ่ายทอดเรื่องธรณีวิทยา ไปยังกลุ่ม ครู อาจารย์ ด้วยหลักสูตรในโรงเรียน ของชั้นมัธยม ปีที่ 2 และ ปีที่ 5
นครขอนแก่น-บ้านเฮา เริ่มมีการจับกลุ่มเครือข่ายระดับประเทศ เมื่อปี 2552 โดยมีเมืองบัดดี้ คือ อุบลราชธานี-สามพันโบก
ปี 2555 เริ่ม ร่วมเป็นเครือข่ายกับจังหวัดสตูล มีหน่วยงานประสานเรื่องโดยตรง คือ องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น คล้ายเป็นงานฝาก ขาดเจ้าภาพ เรื่องจึงเรื่อยๆมาเรียงๆ
ปี 2561 ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น-ดร.สมศักดิ์ จังตระกุล ลงนามในคำสั่งแต่งตั้งให้ องค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่น-อบจ. เป็นเจ้าภาพ เรื่อง การขับเคลื่อนให้จังหวัดขอนแก่น ได้รับการรับรอง GEO Park เรื่องนี้ จึงถูกปักหมุดหมาย มีเจ้าภาพชัดเจน เดินทางได้มั่นคง อย่างมั่นใจ ว่า ได้ไปต่อ
จังหวัดสตูล ได้รับการรับรองให้เป็น อุทยานธรณีโลก ที่มีอายุกว่า 542 ล้านปี เมื่อ ปี 2561-จากความพยายาม อดทน ทำงาน ต่อเนื่องยาวนาน 9 ปี ความสำเร็จ ที่หอมหวาน ย่อมผ่านความเจ็บปวดมาก่อนเสมอ
จังหวัดสตูล เมืองเล็กๆ ริมฝั่งทะเลสีคราม-อันดามัน จึงถูกจารึก ระดับโลก จุดขายเดิม “เกาะหลีเป๊ะ”-ฉายามัลดีฟเมืองไทย จึงถูกเติมด้วยจุดขายของการท่องเที่ยวอีกจุด ที่โด่งดังระดับโลก มาถูกที่ ถูกเวลา ของแนวโน้มการท่องเที่ยว แห่งวันนี้และอนาคต
เพื่อ เตรียมความพร้อมภาคประชาชน ตามหนึ่งเกณฑ์การประเมินของ UNESCO ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น-ดร.สมศักดิ์ จังตระกุล ได้เคยเดินทางไปเยี่ยมชมอุทยานธรณีสตูล มาแล้ว เมื่อ วันที่ 9-11 กรกฏาคม 2563 ที่ผ่านมา
คราวนี้ จึงถึงคิวที่ ชาวนครขอนแก่น กลุ่มแรก จะไปเรียนรู้ ทำความเข้าใจ มีประสบการณ์จริง กับจัดทริป เดินทางไปจังหวัดสตูล-เมืองรอง ที่น่าหลงไหล ระหว่าง 20-22 สิงหาคม 2563 โดย มีกิจกรรม พ่วงเสริมเข้าไปอีก แบบเต็มกระบวนยุทธ ทั้งการทำ Business Matching ของสมาชิกหอการค้า สภาอุตสาหกรรม ผู้ประกอบการ ตลอดจนมิตรภาพข้ามภาคของโรตารี จากภาค 3340 ถึง 3330 ท่องเที่ยว จับคู่ธุรกิจ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายในประเทศ อุดหนุนสินค้าโอทอป สนุกสนาน มีสาระ บันเทิง แม้เวลาจะน้อย หลายคนวางแผนในใจ ว่า จะกลับมาเยือนยามสตูลอีก ในไม่ช้านี้ ปลดปล่อย…. หลังกักตัวเองอยู่บ้านมานานนับ 4 เดือน ในช่วงโควิด-19 …ฮา….
ภาค 1 ของเรื่องนี้ จึงเพิ่งจะเริ่มต้น ขอเล่าต่อในตอนต่อๆไป นะ…นะ…
กลิ่นไอ ทะเล….ซีฟู๊ดสดๆ มาแล้ว…. ต่อภาค 2…3….4 ลำดับ
บันทึกช่วยจำ : จังหวัดสตูล ประกาศ ให้ 4 อำเภอ อยู่ในพื้นที่อุทยานธรณีสตูล คือ อำเภอเมือง-ทุ่งหว้า-มะนัง-ละงู พื้นที่รวม ราว 1,300 ตารางกิโลเมตร และยังมีพื้นที่ในทะเลอีก หลายจุด
มิตรภาพ ระหว่าง ชาวนครขอนแก่น และ ชาวสตูล อบอวล อบอุ่น บรรยากาศ GEO Park เมืองพี่ (สตูล) กับ (ว่าที่) GEO Park เมืองน้อง (ขอนแก่น)
แหล่งท่องเที่ยว จุดขายที่เป็นเทรนด์ ของวันนี้ และอนาคต ให้คนกับธรรมชาติอยู่ด้วยกัน อย่าง ยั่งยืน