จากอันดามัน ถึง ฝั่งลำน้ำพอง (สตูล ถึง ขอนแก่น) ตอนที่ 3/4
คอลัมน์ “รู้จริง ถิ่นเฮา”
….เรื่องเล่า อ่านสนุก ซอกมุมของบรรพบุรุษ และมองออกไปเบื้องหน้า ในบริบทของ เศรษฐกิจ สังคม การเมือง เมื่อทุกเรื่องม้วนร้อย เป็นมิติเดียวกัน เหลืองสะพรั่งของดอกคูน และ เสียงแคน แล่นแต้ มาแล้ว………….
ภาค 3….. ต่อจาก ความ ของภาค 2 สูตรของการท่องเที่ยว ที่มีจุดขาย ยุคบรรพกาลแล้ว ยังมีพืชพรรณ แห่งยุค ที่ชวนย้อนเวลาไปชื่นชม กับพวกเขา ด้วยอารมณ์ อันสุนทรีย์ ยิ่งนัก….
จังหวัดสตูล มีการกำหนดขีดพื้นที่ ใน 4 อำเภอ คือ อำเภอเมือง-ทุ่งหว้า-มะนัง-ละงู พื้นที่รวม ราว 1,300 ตารางกิโลเมตร ให้เป็นเขตแหล่งท่องเที่ยวอุทยานธรณีสตูล รายทาง มีจุดน่าแวะเยี่ยมชม อะไรบ้าง….ตามมาด้วยกันนะ…
“หม้อข้าว หม้อแกงลิง” พืชที่ขึ้นบัญชีอนุรักษ์พรรณพืช ตามอนุสัญญา ไซเตส และเป็นพืชอนุรักษ์ ตาม พรบ.พันธุ์พืช พศ.2518 และแก้ไขเพิ่มเติม พศ.2535
มีประวัติการค้นพบ ในยุโรป ราว คศ.1658 โดยข้าหลวงชาวฝรั่งเศส ด้วยหน้าตา ของการเป็นพืชกินสัตว์ ออกแนวโบราณ ขึ้นได้ดีในป่าเขา ปลูกไม่ง่าย ดูแลให้ออก “หม้อ” ที่ปลายใบหนึ่ง
ใบจะออกเพียงหนึ่งหม้อที่ปลายใบ เท่านั้น
วรวิทย์ ควนข้อง : มีความสุข กับการเป็นเครือข่าย อุทยานธรณีสตูล เล่าเรื่อง ต้น หม้อข้าว หม้อแกงลิง และมีนักท่องเที่ยว ซื้อกลับบ้าน พวกเขาติดความสุขของชาวสตูลกลับไปด้วย
“วรวิทย์ ควนข้อง” หนุ่มชาวสตูล เจ้าของสวน “ควนข้อง” เป็นหนึ่งในเครือข่าย ที่ปลูกต้นหม้อข้าว หม้อแกงลิง ให้เป็นหนึ่งในจุดแวะเยี่ยมชม สำหรับนักท่องเที่ยว ที่เข้ามาสัมผัสบรรยากาศของอุทยานธรณีสตูล
“ที่บ้านผมกรีดยางตอนกลางคืน ตอนกลางวันก็ว่างๆ เข้าไปเดินป่า เจอต้นหม้อข้าว หม้อแกงลิง ลองเอาปลูกจึงเริ่มศึกษาจริงจัง เมื่อทางราชการมาประสานให้ผม เข้าร่วมเป็นเครือข่าย ก็ตอบตกลงทันที ครับ”
เรื่องเล่าของเขา เมื่อเริ่มปลูก ราว 6-7 ปี ก่อน วันนี้ ทั้งครอบครัวมีความสุข อยู่กับบ้านพัก ที่เปิดเป็นจุดท่องเที่ยว อธิบาย ให้ความรู้ ปลูกต้นหม้อข้าว หม้อแกงลิง ขาย มารดาทำหน้าที่ ปรุงเป็นของว่าง-ข้าวเหนียวมูล ในหม้อข้าว หม้อแกงลิง เสริฟร้อนๆ พบว่า ทัวร์ทุกคณะ ต้องแวะ และมีเด็กๆนักเรียนชาวสตูล แวะเข้ามาเรียนรู้ อยู่เสมอ
“บ้านผม เรียกกันว่า ต้นหม้อลิง หม้อค่าง และมีวิธีสังเกต การดูว่า ต้นไหนเป็น หม้อลิง ต้นไหน เป็นหม้อค่าง ด้วยนะครับ มาบ้านผม ซิครับ ผมเล่าหมดเปลือกเลย….” แน๊ะ…พ่อหนุ่ม ทิ้งไว้ให้อยาก แล้ว จากไป ซะงั้น
ปรีดา เกลี้ยงกลม : มีความสุข กับการเป็นเครือข่าย อุทยานธรณีสตูล เล่าเรื่องแบบดีใจที่มีคนฟัง ไม่งั้นจะเหงา อยู่กับต้นไม้รอบบ้าน
“กล้วยไม้รองเท้านารี ขาวสตูล” เป็นหนึ่งในสิบสี่ ของตระกูลรองเท้านารี ที่มีในเมืองไทย ชื่อนี้ เป็นนามพระราชทาน โดย สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราช
ชนนีพันปีหลวง เป็นพืชที่พบทางตอนใต้ของประเทศไทย ชอบขึ้นตามภูเขาหินปูน ถิ่นที่พบ อาทิ สตูล ตรัง ลังกาวี เป็นพืชอนุรักษ์ ที่ผสมข้ามสายพันธุ์ไม่ได้ มีวงจรชีวิต ออกดอก ให้เราชื่นชม ปีที่ 4 ของการปลูก ให้ดอกอิ่ม สวยงาม สมเวลาที่รอคอย
“ปรีดา เกลี้ยงกลม” เจ้าของสวนกล้วยไม้ เล่าแบบสนุก กับชีวิตของเธอว่า ก่อนหน้านี้เคยทำงานในเมืองกรุง สุดท้ายก็กลับมาบ้านเกิด คิดอยู่หลายวันว่าจะทำอะไรดี ลองมาอยู่ต้นไม้ ฝึกเลี้ยงรองเท้านารี ใช้เวลา 7 ปี จนรู้จักเขาดี ทางการเข้ามาชวนร่วมเป็นเครือข่าย จึงตอบตกลง และได้เข้าไปเรียนรู้กระบวนการนำเสนอ เล่าเรื่อง วันนี้จึงไม่เหงา อยู่กับบ้าน จะมีนักท่องเที่ยวแวะเวียนเข้ามาเยี่ยมชม มีความสุข ทุกวัน
น้องกิ่ง-กอบกุล โชติสกุล : มีความสุข กับการเป็นเครือข่าย อุทยานธรณีสตูล ทำให้บิดา มีความสุข กับความรักที่บรรจงเทียน วาดลงบนพื้นผ้า และเลี้ยงครอบครัวได้
ผ้าบาติก “ปันหยาบาติก” น้องกิ่ง-กอบกุล โชติสกุล ลูกสาวของบ้านนี้ เข้าประจำที่ ที่เธอยืนเป็นประจำ ทุกครั้งที่มีนักท่องเทียวแวะเข้ามาเยี่ยมชม ที่บ้านพัก ว่า หลังเรียนจบ เธอทำงานที่ กทม. บิดาและมารดา ยังคงใช้ชีวิตที่บ้าน บิดาชอบงานศิลปะ ลงมือทำผ้าบาติก และพบว่า ขายได้น้อยลงเรื่อยๆ แทบจะหมดใจ ในการทำงานนี้ต่อ เธอกลับมาบ้าน ทางหน่วยงานราชการเข้ามาคุย ชวนเข้าร่วมเป็นเครือข่าย เส้นทางอุทยานธรณีสตูล เธอตอบตกลงทันที ลาออกจากงาน เก็บกระเป๋ากลับบ้านเกิด มาช่วยกันวางแผน วันนี้…ยอดขายผ้าบาติกของเธอ ก้าวหน้า และภาคภูมิใจ ปลื้มใจ ที่ “เจ้านาย” ก็ใช้ผ้าของเธอ
เส้นทางชีวิตของคนรุ่นใหม่ ทั้งสามคน จึงเป็นตัวอย่าง ให้เห็นถึงการอยู่ร่วมกันของทรัพยากรธรรมชาติ ที่ตอบโจทย์ว่า เหตุใดจึงต้องอดทน ขนขวย ให้เป็น “อุทยานธรณีระดับโลก- GEO Park“ เพราะเส้นทางนี้ จะกลายเป็นเส้นทางทำกินที่ยั่งยืน….
เป็นธรรมชาติ ที่ดื่มด่ำในอารมณ์สุนทรี ยิ่งนัก…
บันทึกช่วยจำ : ความร่วมมือของชุมชน เกิดจาก ความหมั่นเพียรของหน่วยงานราชการ ที่ต้องขยันลงไปพูดคุย ชี้แนะ เป็นพี่เลี้ยง ให้พวกเขายืนได้ด้วยตัวเอง ในระยะยาว