กินหม่อน@ขอนแก่น
คอลัมน์ “รู้จริง ถิ่นเฮา”
….เรื่องเล่า อ่านสนุก ซอกมุมของบรรพบุรุษ และมองออกไปเบื้องหน้า ในบริบทของ เศรษฐกิจ สังคม การเมือง เมื่อทุกเรื่องม้วนร้อย เป็นมิติเดียวกัน เหลืองสะพรั่งของดอกคูน และ เสียงแคน แล่นแต้ มาแล้ว………….
บ้านเฮา-นครขอนแก่น ปลูกหม่อน เลี้ยงตัวหนอน ที่พ่นใย หุ้มตัวเอง ก่อนจะนอนพักกายา สร้างปีกแสนสวยกลายเป็น “ผีเสื้อ” สีสดใส บินว่อน วนกลางท้องฟ้า หากินน้ำหวาน โตเต็มวัย ออกไข่ แล้วสิ้นไปตามวัฏจักรของวงจรชีวิต
งานรอบข้างของการทำหัตถกรรม แปลว่า ทอด้วยมือ-มิได้ใช้เครื่องจักรกลใด “ผ้าไหม” จึงเป็นแพรพรรณที่ทรงคุณค่า สืบสานลายประจำถิ่น ที่ส่งต่อมาจากรุ่นย่า ยาย ให้คนรุ่นหลังได้ภาคภูมิใจ และควรอย่างยิ่งในการสืบทอดรักษาไว้ ให้เป็น “มรดกทางศิลปวัฒนธรรมของชาติ ” ที่แสดงความมีรากเหง้า
สายพันธุ์ ของ “ต้นหม่อน” มีหลากหลายนับร้อย แต่ที่พวกเราพอจะคุ้นเคย และรู้จัก เป็น ต้นหม่อนที่ใช้ใบ-เพื่อเลี้ยงหนอนไหม และต้นหม่อนที่กินผล-นำมาทานสด /ทำน้ำมัลเบอร์รี่
วันนี้ อยากพาไปรู้จัก สวนหม่อน-กินผล อยู่ในเขตอำเภออุบลรัตน์ ชื่อ “สวนโคกฮายส์”
เก๋-นริศรา อภิรัตนวงศ์ วัย 49 เป็นลูกหลานชาวขอนแก่น บ้านเฮา นี่แหละ เธอเป็นเจ้าของสวน ที่เล่าความเป็นชาวสวนของเธอ แบบอุบัติโดยบังเอิญ ไม่คาดคิดว่าจะออกมากรำแดดแรงได้อย่างนี้ เกือบทุกมหาวิทยาลัย มักสอนให้เป็น มืออาชีพ หรือเป็นลูกจ้าง มากกว่าที่จะมาทำมาหากินได้เอง
เธอก็เป็นอีกหนึ่งผลผลิตของการศึกษา จากรั้วมหาวิทยาลัย จบออกมาก็ไปทำงานด้านบัญชี ในบริษัทเอกชน เพลินๆ หลายปีผ่านไป พอมาถึงวันที่ต้องถูกเลือก จากพี่น้อง-พี่ชายและน้องสาว ว่า เธอจะต้องเป็นผู้ดูแลบิดาที่ป่วย จึงลาออกจากงานประจำ
และเมื่อบิดาสิ้นลง ชีวิตที่โบยบิน คงไม่กลับไปสู่วงจร คนทำงานออฟฟิตอีก ประกอบกับมารดา อยากใช้ชีวิตหลังเกษียณ อยู่กับต้นไม้ ไร่สวน บนที่ดินของรุ่นตายาย ที่แบ่งปันให้พี่น้องกันคนละหลายสิบไร่ จึงเป็นที่มาของเธอ ในการคำนวนโจทย์ชีวิตว่าจะ ทำการเกษตร…ปลูก อะไรดี..
ความรู้ที่เกิดจาก การสืบค้นทางโลกออนไลน์ ช่วยได้มากโข ความชอบส่วนตัว ที่ชอบกิน “ลูกหม่อน” อยู่แล้ว คือ น้ำมัลเบอร์รี่-ผลิตภัณฑ์ดอยคำ และรู้ว่า เป็นพืชผลที่ราคา ปลูกไม่ยาก เธอจึงศึกษาด้วยตัวเอง วางแผนที่จะปลูก บนที่ดิน ราว 23 ไร่ แม้จะมีเสียงคัดค้านจากมารดา-ที่อยากปลูกกล้วย แต่เธอก็ยืนยัน ตามความตั้งใจ วันนี้---3 ปี ผ่านไป มารดา วัย 78 มีความสุข กับการ ชั่ง- ห่อ ลูกหม่อนขาย ในสวน และมีพืชผล อื่นๆให้ได้เก็บกิน เก็บขาย อย่าง มะนาว มะเขือ พริก
บนที่ดิน ราว 23 ไร่ ลงมือปลูก ต้นหม่อน 1,200 ต้น เมื่อปี 2560 ผ่านไปเพียง 6 เดือน เริ่มเก็บผลหม่อน ได้แล้ว นับเป็นผลไม้ใหม่ๆ ที่ต้องสอนคนกินหม่อน ไปในเวลาเดียวกับที่ลงมือปลูก มีกลุ่มคนปลูกหม่อน ที่รวมกันทางออนไลน์ ชื่อ กลุ่มคนรักหม่อน (มัลเบอร์รี่) มีสมาชิกมากกว่า 80,000 คน
กระแสของการรักสุขภาพ กินอาหารแนวป้องกันโรคภัยต่างๆ ทำให้คนรู้จักศึกษา เรื่องอาหารการกินมากขึ้น “ลูกหม่อน” จึงได้รับความนิยมมากขึ้น เมื่อผู้คนรู้จัก ประโยชน์ของผลสีม่วงของเขามากขึ้น
มีการดูแล ให้ต้นหม่อน ออกผลได้ตลอดทั้งปี เวียนเก็บขาย มีรายได้เข้าบ้านทุกวัน
วันนี้…เล่า แบบมีรอยยิ้ม ฟันขาว เพราะผิวคล้ำไปเยอะ… บอกว่า ย้อนเวลาได้ ก็ตอบคำเดิมว่า คิดถูก ที่ตัดสินใจปลูกหม่อนและออกมาทำไร่ ดูแลมารดา สอนลูกชาย ให้รักในความเป็นท้องถิ่น พืชสวน และอยากให้สวนแห่งนี้ เป็น “สวนเกษตรเชิงท่องเที่ยว”
เธอกำลังวางแผน ทำร้านกาแฟ และต่อยอด แปรรูป ผลิตภัณฑ์ เป็นการถนอมอาหาร-สร้างมูลค่าเพิ่ม นอกเหนือจากการมีแฟนคลับ “คนชอบกินหม่อน” ที่สั่งเป็นประจำกันอยู่แล้ว
อยาก ไปเยี่ยมสวน อยากกินหม่อน ยกหู ออเดอร์กันได้ ที่ 089 422 8805
บันทึกช่วยจำ : ชื่อสวน “สวนโคกฮายส์” เล่นคำให้สนุก จากชื่อ บ้านโคกสูง สูง คือ ฮายส์ พอปรับชื่อเรียก ดูหรูขึ้นมาติดหมัด ทันที…
เก๋-นริศรา อภิรัตนวงศ์ ยิ้มกว้าง กับชีวิตที่เลือกแล้ว คือ สวนหม่อน-กินผล ความรู้ ด้านการเกษตร การปลูก การดูแล หาไม่ยากบนโลกออนไลน์ ความอุตสาหะ จะช่วยให้ทุกอย่างเป็นไปได้ ตามความตั้งใจจริง
ผลอ่อน ของลูกหม่อน หลังจากใช้เวลาปลูก เพียง 6 เดือน รออีกหนึ่งเดือน ได้ชิมความอร่อย
“สีม่วง” ผลไม้ที่มีคุณค่าทางอาหาร ต้านอนุมูลอิสระ-ต้านมะเร็ง
ลูกหม่อน สุกเต็มต้น เก็บสดๆ ทานได้ทันที
โค้ง ก้าน โน้มกิ่ง ทำให้ผลหม่อนดก เก็บง่าย และเป็นซุ้ม ที่มีเสน่ห์ ได้ในครวเดียวกัน
มะนาว สวนนี้ ดกดี ได้ใจ ออกลูกมาเป็นพวง