เกาะกุดหิน@ขอนแก่น
คอลัมน์ “รู้จริง ถิ่นเฮา”
….เรื่องเล่า อ่านสนุก ซอกมุมของบรรพบุรุษ และมองออกไปเบื้องหน้า ในบริบทของ เศรษฐกิจ สังคม การเมือง เมื่อทุกเรื่องม้วนร้อย เป็นมิติเดียวกัน เหลืองสะพรั่งของดอกคูน และ เสียงแคน แล่นแต้ มาแล้ว………….
ขอนแก่น มีเกาะ….ห๊า…ขอนแก่น มีเกาะ….จริงรึ…. ทะเลก็ไม่มี จะมีเกาะได้ไง นี่…
ขอนแก่น มีเกาะ จริงๆ นะ…….
เกาะ คือ แผ่นดิน ที่มีน้ำล้อมรอบ เกาะแห่งนี้เกิดจาก การสร้างเขื่อนอุบลรัตน์ พื้นที่เหนือเขื่อน ภูมิประเทศ ย่อมเป็นเสมือนอ่างน้ำขนาดมหึมา ที่เก็บกักน้ำ เพื่อบริหารจัดการ ค่อยๆปล่อยไปตามทิศทาง แผนงานที่วิศวกร กำหนด ตามวัตถุประสงค์ เช่น เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า เพื่อการชลประทาน ให้ประชากร ปลายน้ำได้ใช้ประโยชน์ เป็นสุดยอดของการบริหารจัดการน้ำ ของบุคคลอัฉริยะแห่งแผ่นดิน “ ในหลวงรัชกาลที่ 9 “ พ่อหลวงของปวงชนชาวไทยทุกคน
“เกาะกุดหิน” จึงเกิดจากการนี้ เมื่อมีการประกาศเวนคืนที่ดิน เพื่อสร้างเขื่อนอุบลรัตน์ในปี 2509 การไฟฟ้าฝ่ายผลิต-กฟผ. คำนวนว่า เมื่อกั้นลำน้ำพอง ปริมาณน้ำคงท่วมพื้นที่ บริเวณเหนือเขื่อน จนมิดมอด
แต่ในความเป็นจริง พื้นที่ ที่เป็นลักษณะหินแข็ง เนินสูง น้ำท่วมไม่ถึง จึงกลายสภาพเป็นเกาะ อาณาบริเวณกว้าง ราว 648 ไร่ เมื่อเป็นเช่นนี้ ชาวบ้านที่เคยตั้งถิ่นฐานอยู่เดิม หลังจากที่อพยพไปแล้วนั้น จึงขอกลับมาอยู่ถิ่นฐานเดิม ที่เกาะแห่งนี้ ด้วยการเช่าจาก กฟผ. (เพราะเวนคืน เป็นพื้นที่อยู่ในความดูแลของ กฟผ.ไปแล้ว) ปัจจุบัน มีที่อยู่อาศัย 150 ครัวเรือน ประชากรราว 218 คน
“เกาะกุดหิน” ตั้งอยู่ในเขตอำเภอภูเวียง ขอนแก่น-บ้านเฮา อาชีพหลัก คือ การประมง จับปลา จับกุ้ง ขึ้นมาขาย สัตว์น้ำเหล่านี้ คือ ลูกปลา ลูกกุ้ง ที่กรมประมง ปล่อยลงน้ำ นับล้านๆตัว ต่อปี เพื่อเป็นอาหาร เป็นอาชีพ ให้ประชาชนชาวเขื่อน พวกมันแหวกว่ายในอ่างน้ำมหึมา อันอุดมสมบูรณ์ เติบโต เป็นสมดุลแห่งธรรมชาติ ที่เกื้อกูลระหว่างมนุษย์และธรรมชาติ
อาหารการกิน ที่กลายเป็นสินค้าเอกลักษณ์พื้นเมือง คือ “ปลาวง” เป็นปลาตัวเล็ก ที่นำมาผ่าท้อง ตากแดด วางเป็นวงกลม เมนูของ ปลาวง คือ ทอดกรอบ เป็นแคลเซียมชั้นเลิศ
การจับปลา ของชีวิตชาวเกาะนี้ ไม่ต่างจากชีวิตของชาวเล หรือการจับปลาตามหนองน้ำ พวกเขาใช้วิธี ทอดแห ยกยอ ที่น่าชื่นชม คือ หากจับได้ปลาตัวเล็ก หรือปลาแม่ไข่เต็มท้อง จะปลดทิ้งลงน้ำ ให้พวกเขาเติบโต ต่อไป ไม่จับมากินให้สูญพันธ์ ไวเกินเหตุ
“กุ้งก้ามกราม” ตัวโต เห็นแล้วน้ำลายไหล… เป็นกุ้งเผา น้ำจิ้มแซ่บ…เปรี้ยวนำเผ็ด หวานตามนิดๆ เด็กหนุ่มๆ ชาวเกาะนี้ เรียนรู้วิธีตกกุ้ง แบบภูมิปัญญาท้องถิ่น ความขยันของพวกเขา ทำเงินจากการขายกุ้ง ตัวโตขนาด 3 หรือ 4 ตัว ต่อกิโลกรัม ราคาขายส่งจากเกาะ 600./บาท/กก สร้างรายได้ ให้ครอบครัว ด้วยวิถีที่ร่มเย็น
เกาะกุดหิน แห่งนี้ เป็นพื้นที่อาศัย ไม่มีโรงเรียน เด็กๆต้องนั่งเรือออกมาเรียนหนังสือทุกวัน-เคยออกทีวี-รายการสะเก็ดข่าว กันมาแล้ว นั่งเรือหางยาว ไป-กลับ เพียงแลเห็นกัน ราว 10-15 นาที ก็ถึงกันแล้วล่ะ
อยากไปสัมผัส ชีวิต “ชาวเกาะ” ที่มีเพียงแห่งเดียว ในขอนแก่น-บ้านเฮา และเป็นอีกหนึ่งจุดของเส้นทาง อุทยานธรณีขอนแก่น- GEO Park ประสานไปที่ผู้นำกลุ่ม แม่อรพินท์ 081 544 3802
เกาะกุดหิน เกาะแห่งเดียวของขอนแก่น ตั้งอยู่ ในอ่างน้ำ เหนือเขื่อนอุบลรัตน์ ห่างจากแผ่นดินใหญ่ เพียง นั่งเรือหางยาว ราว 15 นาที
เครื่องมือจับปลา ภูมิปัญญาท้องถิ่น เรียกว่า “สะดุ้ง” หรือ “ยอ” ภาพที่หลายคนเห็นแล้ว ได้อารมณ์ คูล คูล…
เรือหางยาว พาหนะข้ามไปเกาะกุดหิน อย่าลืม สวมเสื้อชูชีพ กันด้วยนะ
บรรยายกาศ สบายๆ นั่งรถอีแต็ก เข้าไปในชุมชน บนเกาะ
“ปลาวง” ตากแดดเดียว ส่งขายทางออนไลน์ ทั่วประเทศ
กุ้งก้ามกราม ตัวเขื่อง ขนาด 3-4 ตัว ต่อกิโล สินในน้ำ ที่เลี้ยงชีพได้
หาดสวรรค์ อีกจุดที่น่าแวะเยี่ยม ทักทาย “น้องควาย” พวกมันและเล็มญ้า อยู่กันเป็นฝูง นับร้อยตัว เลี้ยงควาย-เป็นอีกอาชีพ ที่ทำเงิน
น่ารัก กับคู่แม่ลูก เคยได้ยิน เสียง ควายร้องกันไหม ?
“ปลาชโด” อยู่รวมกันเป็นฝูง เควี่ยงแห ลงไปตูมเดียว ได้มาเกือบ 3 กระสอบ ตัวเล็ก-แม่ปลาไข่ ปลดออกลงน้ำ อนุรักษ์ให้ธรรมชาติสมดุล