เงินหมด แต่ยังไม่ตาย?ทำไงดี !!!   


11 มกราคม 61 01:57:44

คอลัมน์  “รู้จริง ถิ่นเฮา”
โดย “น้องดอกคูน”
….เรื่องเล่า อ่านสนุก ซอกมุมของบรรพบุรุษ และมองออกไปเบื้องหน้า ในบริบทของ เศรษฐกิจ สังคม การเมือง เมื่อทุกเรื่องม้วนร้อย เป็นมิติเดียวกัน  เหลืองสะพรั่งของดอกคูณ และ เสียงแคน แล่นแต้ มาแล้ว………….

^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^

อะไรนี่.. น้องดอกคูน ถามชวนเครียดจัง เดี๋ยวปั๊ดเนี่ยว…. เงินทองของหายาก ยามไม่มีเงินเป็นไง ยามมีเงินใครก็มานับญาติ ยามเงินจางญาติหน่ายหนี
   
อายุขัยเฉลี่ย ของคนไทยราว 80 ปี มีเวลาทำงานราว 35 ปี และใช้เวลาหลังเกษียณ จนกว่าจะจบชีวิตอีกมากกว่า 20 ปี ยิ่งอายุยืน ยิ่งยังต้องใช้เงินเพื่อยังชีพอีกนาน ตามอายุ
    
พบว่า คนไทยไม่ค่อยเก็บออม ชอบใช้เงินในมือแบบจ่ายแหลก และยังใช้เงินในอนาคต คือการกู้ยืม จนหนี้สินรุงรัง กลายเป็นหนี้ครัวเรือน ให้เป็นปัญหาของประเทศชาติซะอีก เพราะโฆษณาชวนเชื่อ แท้ๆเชียว ที่โหมแบบโดนใจ มีเงินเท่าไหร่ต้องควักออกมา ซื้อแหลก
   
เงินใช้เมื่อปลายชีวิต มองเป็นระบบ คือ กองทุนบำเหน็จบำนาญ ข้าราชการกว่า 2 ล้านคน หากเป็นสมาชิก กบข.ก็พอวางใจ ภาคเอกชนเขามีกองทุนประกันสังคม เป็นตัวช่วย แต่คนที่อยู่ตรงกลาง นี่ซิ ไม่ใช่ข้าราชการ ไม่ใช่ลูกจ้าง เป็นผู้ประกอบอาชีพอิสระ  อาทิ ขายของตามแผงลอย,  ขายลูกชิ้งปิ้ง, ขายไส้กรอกอีสาน –มัม, ขายฝรั่งดอง รับจ้างทั่วไป มีอยู่ราว 35 ล้านคน มองอนาคตแล้ว ย่อมเป็นภาระของภาครัฐที่ต้องจัดสรรงบประมาณก้อนโต มาดูแล…อั๊วซี่เลี้ยว…
    
มองทะลุ จึงต้องมีนโยบายบริหารจัดการเรื่องเงินงบประมาณของประเทศ การสร้างการมีส่วนร่วม, การส่งเสริมให้ประชาชนมีวินัยเรื่องการออม จึงเกิด “กองทุนการออมแห่งชาติ” เปิดตัวไปแล้ว เมื่อปี 2558 ที่ผ่านมา
    
กองทุนการออมแห่งชาติ-กอช. วางกลุ่มเป้าหมาย คือ อายุ 15 ปี ขึ้นไป สมัครเข้าเป็นสมาชิก และฝากเงิน เป็นเงินเก็บส่วนหนึ่ง รัฐบาลสมทบอีกส่วนหนึ่ง เพื่อเป็นเงินก้อนสำคัญไว้ใช้ในวัยชรา
    
งานนี้ กอช.จึงขอมา ใช้พื้นที่จังหวัดขอนแก่น เป็นพื้นที่นำร่อง อันหมายถึงทำกิจกรรม เพิ่มสมาชิก เป็นกลุ่มเป้าหมายที่เป็น กลุ่มนักเรียน  5 แห่ง ได้แก่ โรงเรียนขอนแก่นวิทยายน มีนักเรียน 5,000 คน, โรงเรียนกัลยาณวัตร 3,000 คน, โรงเรียนนครขอนแก่น 2,500 คน, โรงเรียนแก่นนครวิทยาลัย 5,000 คน และ โรงเรียนขามแก่นนคร 1,800 คน รวมทั้ง 5 แห่ง ราว 18,500 คน  ชื่อโครงการว่า “กอช.ต้นกล้า เงินออม” โดยมีทีมอาจารย์จิตอาสาที่จะช่วยทำหน้าที่ในกิจกรรมนี้ โรงเรียนละ 5 คน  ช่วยขับเคลื่อน ให้เด็กนักเรียน เข้าใจเรื่องการออม การวางแผนทางการเงิน
    
ก่อนลงมือภาคปฏิบัติ อาจารย์ ทั้งคณะของโครงการนี้ ควรรู้จักเรื่องราวของการเงิน การออม ก่อน จึงจะถ่ายทอด ทำหน้าที่ “แม่ไก่” ทาง กอช.จึงจัดทริป พาคณะอาจารย์ ไปศึกษาดูงาน ที่ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ที่กรุงเทพมหานคร บินแบบเท่ห์ๆ ไปเช้า-กลับค่ำ เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม ที่ผ่านมานี้เอง  เต็มอิ่ม เต็มประสบการณ์ เต็มที่กับการทำหน้าที่  “แม่พิมพ์” ที่ไม่เพียงกางตำราสอนลูกศิษย์
   
กิจกรรมนี้ จังหวัดขอนแก่น เป็นจังหวัดแรก ที่ กอช.หันมาให้ความสำคัญกับกลุ่มนักเรียน อันเป็นการเริ่มต้น ฐานการเงินแห่งชีวิตของพวกเขา เด็กๆบ้านเรา จะรู้จักเก็บออม น่าจะช่วยคลายปม ที่จั่วหัวไว้แล้วล่ะ ว่า  เงินไม่หมด ก่อนตาย มีเงินใช้ จนวันตาย ก็งานนี้แหละ…ฮา…

เข้าเยี่ยมชม พิพิธภัณฑ์ ธกส. –ที่พึ่งของเกษตรกรไทย กระดูกสันหลังของชาติ

ตลาดหุ้นไทย มูลค่ากว่า 16 ล้านล้านบาท มากกว่า GDP ของประเทศ

ชีวิตหลังเกษียณ คุณๆ อยู่ในกลุ่ม เปอร์เซ็นต์ใด

เงินทอง ต้องใช้ และควรออม ในรอบวงจรชีวิต

สัญญลักษณ์สากลของตลาดหุ้น กระทิง-หุ้นขึ้น หมี-หุ้นลง 

ขุมพลังแห่งความรู้ ที่ห้องสมุดมารวย

ค้นหา “ตัวกินเงิน” จากกระเป๋าของเรา ใน พิพิธภัณฑ์เรียนรู้การลงทุน

การเงิน เข้าใจง่ายๆ “แม่ไก่” ฟังอย่างตั้งใจ 








หวยเด็ดงวดนี้
  • ผลสลากกินแบ่งรัฐบาล
    16 พ.ย. 2567
  • รางวัลที่ 1 187221
  • รางวัลเลขหน้า 3 ตัว 036 923
  • รางวัลเลขท้าย 3 ตัว 980 547
  • รางวัลเลขท้าย 2 ตัว 38
เรื่องอื่นๆในหมวด

เว็บโฮสติ้ง

เว็บโฮสติ้ง   Cloud Web Hosting   Streaming Server   VPS