กระเป๋าสตรีฝีมือดี @บ้านไผ่
คอลัมน์ “รู้จริง ถิ่นเฮา”
โดย “น้องดอกคูน”
….เรื่องเล่า อ่านสนุก ซอกมุมของบรรพบุรุษ และมองออกไปเบื้องหน้า ในบริบทของ เศรษฐกิจ สังคม การเมือง เมื่อทุกเรื่องม้วนร้อย เป็นมิติเดียวกัน เหลืองสะพรั่งของดอกคูณ และ เสียงแคน แล่นแต้ มาแล้ว………….
^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^
ชีวิตของ “น้องนางบ้านนา” จากถิ่นฐาน มุ่งหน้าเข้าเมืองกรุง เพื่อหาโอกาส หางานทำ และเมื่อกาลหนึ่งของเวลาเดินทางมาถึง พวกเธอก็หวนกลับคืนถิ่นเกิด ประหนึ่งเป็น “คนกล้า คืนถิ่น” อาจจะไม่รู้ว่าอนาคตจะเป็นเช่นไร ก็มั่นใจว่าวิชาชีพที่ติดตัวมานั้น เป็นทรัพย์นับแสน ที่จะลงมือทำงานหาเงิน เลี้ยงชีพ ในถิ่นเกิด ที่มีต้นทุนชีวิตสูง ค่าครองชีพ เป็นความสุขใจ ดาดาษทั่วท้องทุ่ง
คุณสุวดี ทวีพูนชัย เจ้าของแบรนด์ “ VARE “ และผู้นำกลุ่มแม่บ้านตำบลบ้านไผ่
คุณสุวดี ทวีพูนชัย วัย 42 เป็นชาวตำบลบ้านไผ่ อำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่นของเรานี่เอง เธอมีชีวิตวัยรุ่น ที่เติบโตในยุคโรงงานเฟื่องฟู ทำงานในโรงงานทำกระเป๋าหนัง 6 ปี จึงมีประสบการณ์ และแว่บแรกก็มีแรงบันดาลใจว่า อยากเป็นเจ้าของกิจการเอง และอยากใช้ผ้า
ลาออกจากงาน เมื่อมั่นใจว่า ค้าขายเป็น เช่าหน้าร้านขายกระเป๋า ขายดีสวนกระแส แต่พบว่าต้นทุนค่าครองชีพสูงขึ้น คิดใหม่ว่า กลับบ้านเราดีกว่า รักรออยู่….
ปี 2548 หันหลังให้เมืองกรุง ที่ดินมี ข้าวมี และพกพาประสบการณ์ เริ่มงานการทำกระเป๋าสตรี และกวักมือชวนแม่บ้านในชุมชน มาหารายได้เพิ่มเติม หลังเสร็จงานบ้าน งานนา สร้างแบรนด์ที่ใช้ชื่อตัวเองให้ลูกค้าจำได้ว่า “VARE” ตัดคำจากชื่อตัวเองนี่แหละ…สั้น เสียง เขียนง่าย มองมีเอกลักษณ์
ตรงยุคกับการส่งเสริมคนเล็กคนน้อยจากชุมชน รัฐบาลหนุนสินค้า OTOP จึงมีคนมาช่วยหลายด้าน ทั้งการออกแบบ การตลาด จึงเอ่ยปากชวนกลุ่มแม่บ้านในชุมชน มาทำงานกันเป็นทีม ตั้งเป็นหน่วยระดมทุน 35 คนๆละ 100 บาท และขึ้นทะเบียนกับกรมพัฒนาชุมชน เมื่อปี 2555
พวกเธอมีการบริหารจัดการ กระจายความเสี่ยง จากบทเรียนที่เคยรับรู้มาเรื่องการบริหารเงิน ด้วยการเปิดบัญชีร่วม 3 คน ที่ธนาคารออมสิน มี ประธาน เลขาและเหรัญญิก ของกลุ่ม ร่วมกัน ใช้เกณฑ์ 2 ใน 3 เบิกถอน และเก็บสมุดบัญชีไว้ที่กรรมการอีกคน เป็นการบริหารความเสี่ยง ที่พวกเธอเรียนรู้ มาจากหลายหน่วยงานที่เข้าไปอบรม
กระเป๋าสตรี หลายแบบ เลือกได้…น่าจะมีสักแบบ….ที่ถูกใจ
ต้นทุนการผลิตกระเป๋า การตั้งราคา การออกบูธขายตามงานแสดงสินค้า เป็นงานที่ครบวงจรของ กระเป๋าหนึ่งใบ แบบเก๋ๆ ออกแบบโดยทีมงานที่อาจดัดแปลงจากเพื่อนๆบ้าง และไม่ลืมที่จะใช้ “ผ้า” จากท้องถิ่น
แม่บ้านกลุ่มนี้ มีหลายภารกิจที่พวกเธอต้องดูแล ทำอาหาร เลี้ยงลูก ทำนา ทำไร่ และจัดเวลามาทำงานเย็บกระเป๋า ที่ไม่เพียงบรรจุฝีจักร แต่บรรจงใจ ให้กระเป๋าทุกใบ เป็นความสุข ความชอบของผู้บริโภคทุกคน
เป็นอีกหนึ่งบทพิสูจน์ของ คนขยันที่ไม่มีทางอดตาย เพื่อแสวงหาโอกาส และใช้โอกาสนั้นแปรรูปเป็นทรัพย์สิน ไปช่วยอุดหนุนพวกเธอกันได้ ถือแล้วรวยกันทั่วหน้านะ ขอบอก ……