คืนคนดีให้สังคม@ขอนแก่น
18 มกราคม 61 05:56:50
คอลัมน์ “รู้จริง ถิ่นเฮา”
โดย “น้องดอกคูน”
….เรื่องเล่า อ่านสนุก ซอกมุมของบรรพบุรุษ และมองออกไปเบื้องหน้า ในบริบทของ เศรษฐกิจ สังคม การเมือง เมื่อทุกเรื่องม้วนร้อย เป็นมิติเดียวกัน เหลืองสะพรั่งของดอกคูณ และ เสียงแคน แล่นแต้ มาแล้ว………….
^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^
“กฏหมาย” และ “กฏกู” ย่อมต่างกัน เมื่อมนุษย์อยู่ร่วมกัน จึงต้องกำหนดกติกา ใครผิดจากคำมั่นที่ให้กันไว้ ย่อมได้รับโทษทัณฑ์
สถานการณ์ของเมืองไทย เรื่องกระบวนการยุติธรรม พบว่า พลเมืองผู้ต้องขังล้นคุก จากจำนวนทัณฑสถาน ทั้ง 143 แห่งทั่วประเทศ ที่สามารถรองรับได้ราวแสนกว่าอัตรา พบว่า วันนี้มีตัวเลขทะลุ มากขึ้นกว่า 3 เท่า คือ มีผู้ต้องขังทั่วประเทศราวกว่า 330,000 คน ความแออัดนี้ เล่ากันว่าบางแห่งต้องนอนเรียงเป็นแถวๆเหมือนเรียงเข่งปลาทู และบางแห่งต้องแขวนนอนเปล
มีคำเขียนสองคำที่มีความเหมือนของการจำกัดอิสระให้อยู่เพียงหลังกำแพงสูงเป็นสถานที่กักขังผู้กระทำผิดตามคำตัดสินของศาล แต่มีความต่างเพียงการคัดแยก คือ “ทัณฑสถาน” เป็นสถานที่กักขังที่แยกแยะ เช่น นักโทษชาย-หญิง โทษหนัก-เบา วัยหนุ่ม บำบัดพิเศษ ส่วน “ เรือนจำ” เป็นที่กักขังผู้กระทำผิดในทุกคดี
ความเป็นอยู่หลังกำแพงสูง เมื่อต้องแชร์ไปให้เพื่อนๆ ตัวหารมาก ผลลัพท์จึงน้อยลง งบประมาณค่าอาหาร ที่ตั้งต้นเรื่องไว้ 44 บาท ต่อคน ต่อวัน ( 3 มื้อ-เช้า-กลางวัน-เย็น) มีการเปิดประมูลแบบ eBidding หมายถึง เอกชนหากใครประมูลให้ราคาต่ำสุด ก็ได้รับงานการจัดสรรอาหารให้ผู้ต้องขัง ผล-- เป็นราคาเฉลี่ยราว 34 บาท ดังนั้น อาหารต่อมื้อที่จัดสรรให้ คือ วงเงิน 12 บาท ต่อมื้อ
ถามต่อว่า ราคาข้าวแกง ที่เรากินกันราคาจานละเท่าไหร่ล่ะ ? กำเงิน 12 บาท จะกินอะไรได้บ้าง ?......
เขาเปิดให้ญาติเยี่ยมผู้ต้องขัง ถามสารทุกข์สุขดิบได้ ทุกวัน ผ่านซี่ลูกกรง คุยกันผ่านสายโทรศัพท์ คราวละ 15 นาที และอนุญาตให้มอบเงินยังชีพไว้ได้-ผ่านการตัดบัญชีดูแลโดยเจ้าหน้าที่ผู้คุม โรงอาหารภายในเรือนจำ มีอาหารขายในราคาที่ซื้อกินได้ ไม่เกินถุงละ 35 บาท แต่การจะได้เข้าไปแดนด้านใน หรือสวมกอดสัมผัสกัน ต้องเป็นโอกาสพิเศษเท่านั้น
ที่เมืองขอนแก่น บ้านเฮา มีผู้ต้องขังรวม 6,541 คน (อยู่ในเรือนจำกลาง ชาย 3,200 คน หญิง 500 คน, เรือนจำอำเภอพล ชาย 974 คน หญิง 167 คน และ ทัณฑสถาน ชาย 1,700 คน ไม่มีหญิง)
การพลัดพราก จากคนที่เรารัก- สมาชิกในครอบครัว ขณะที่ยังมีลมหายใจ ร้าวรานใจยิ่งนัก นโยบาย “คืนคนดีสู่สังคม” ให้พวกเขากลับเนื้อกลับตัวเป็นคนดี จึงเป็นการคืนความสุข ความสมบูรณ์ให้ครอบครัว หน่วยที่เล็กที่สุดของสังคม
ชีวิตความเป็นอยู่หลังกำแพงสูง เป็นบทเรียนของมนุษย์ ที่มีธรรมชาติของการรักอิสระ อยากไปไหนๆ ทำได้มีความสุข แต่เมื่อถูกจำกัดพื้นที่ให้อยู่เพียงที่แคบๆ ย่อมเป็นทุกข์ เป็นอารมณ์ย้อนแย้งภายในตัวเอง ที่ต้องมี “สติ” ไม่เบียดเบียนกัน กฏหมายทุกฉบับล้วนถูกกลั่นมาจากการต้องอยู่ร่วมกันของมนุษย์คนหมู่มาก ที่จำเป็นต้องเสียสละส่วนตน มองส่วนรวม แบ่งปัน ไม่เบียดเบียน ไม่ทำร้าย ไม่คดโกง
“สติ” จึงเป็นดั่งหลักศิลา ให้จิตใจมั่นคงดั่งภูผา ….“ คนดี… ไม่มีวันตาย”….
ความหนาแน่น ของผู้ต้องขัง เป็นมาต่อเนื่องหลายปีมาแล้ว จึงมีนโยบาย “คืนคนดีให้สังคม”