ผักสดชานเมือง @พระยืน
25 มกราคม 61 09:35:56
คอลัมน์ “รู้จริง ถิ่นเฮา”
โดย “น้องดอกคูน”
….เรื่องเล่า อ่านสนุก ซอกมุมของบรรพบุรุษ และมองออกไปเบื้องหน้า ในบริบทของ เศรษฐกิจ สังคม การเมือง เมื่อทุกเรื่องม้วนร้อย เป็นมิติเดียวกัน เหลืองสะพรั่งของดอกคูณ และ เสียงแคน แล่นแต้ มาแล้ว………….
^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^
ย่านปลูกผักสด ส่งเข้าไปขายในเมืองของคนกรุง ที่คุ้นตาคือ แถบๆย่านตลิ่งชัน พุทธมณฑล นครปฐม แปลงผักผืนยาวทอดตัวเขียวขจี มองสุดสายตา สดชื่น และกินอร่อยกันได้ทุกบ้าน
อารมณ์ผักชานเมืองของเมืองขอนแก่น อยู่ไม่ไกลนัก อำเภอพระยืน อยู่ติดชิดอำเภอเมือง ขับรถกินลมออกนอกเมืองไม่เกิน 20 กิโลเมตร ก็เห็นแปลงผัก และเพิงเล็กๆขายผักเป็นกำ เป็นผัก สด กรอบ เพิ่งตัดมาจากแปลง ที่คุณๆมองเห็นอยู่ใกล้กันนั่นแหละ
พื้นที่ว่างใกล้ชุมชน ถูกนำมาใช้ประโยชน์ แปลงผักเขียวขจี น่าชื่นใจ
พื้นที่ชุ่มน้ำของลำน้ำชี น้ำท่วมถึง ในฤดูหน้าน้ำ เมื่อน้ำลดระดับจึงกลายเป็นพื้นที่อุดมด้วยตะกอนดิน ใช้ประโยชน์ได้ ปีละ 6 เดือน บริเวณนี้ 7 ไร่ เป็นที่ราชพัสดุ ที่ชาวบ้าน เข้ามาจับจอง แบ่งล็อก เป็นแปลงผัก ทำมาหากินกันมา ตั้งแต่ปี 2544
ชาวบ้านรวมตัวกันภายใต้การนำของ ผู้ใหญ่บ้าน-ณรงค์ศักดิ์ แสนชัย วัย 55 ปี เขาเป็นทนายความโดยอาชีพ หวนคืนถิ่นเกิดเมื่อหลายสิบปีก่อน รับว่าความทั่วประเทศ แต่แบ่งเวลามาช่วยบ้านเกิด เขาจึงเป็นปากเสียงสำคัญที่ช่วยเจรจากับทางการ ให้ชาวบ้านเข้ามาปลูกผักทำกินบนที่ดินว่างเปล่าหลายจุด
ผู้ใหญ่บ้าน-ณรงค์ศักดิ์ แสนชัย
อีกหนึ่งแรงสำคัญ คือ ดร.ไกรเลิศ ทวีกุล อาจารย์ประจำคณะเกษตรศาสตร์ มข. เขาชอบลงพื้นที่ช่วยชาวบ้าน ชอบงานวิจัยภาคสนาม ที่มีท้องฟ้าเป็นผนังห้อง มีชาวบ้านเป็นนักวิจัย เขารู้ดีว่า “น้ำ คือชีวิต” ของการเกษตร เมื่อจ่ายน้ำเข้าพื้นที่ใด จะก่อเกิดชีวิต และความงดงาม เขียวขจีขึ้นมาทันที อีสานจึงไม่แล้ง อีกต่อไป เมื่อนำพลังงานแสงอาทิตย์ มาผลิตไฟฟ้า สูบน้ำใต้ดิน-น้ำบาดาล ขึ้นมาหล่อเลี้ยงพืชผัก
น้ำคือชีวิต ไฟฟ้าจากพลังแสงอาทิตย์ สูบน้ำดาล เป็นน้ำจากผิวดิน ความลึกราว 100-150 เมตร สร้างความชุ่มชื้น ให้พืชผัก ทุกชนิด
ผักสดๆ ต้นอวบงาม ด้วยอาการ “ถึงน้ำ” ถึงปุ๋ยอินทรีย์ และการดูแลของเจ้าของแปลง ผลัดกันโต ตามรอบของการปลูก คะน้า กวางตุ้ง ต้นหอม ผักชี ตัดขายได้เงินสดทุกวัน มีพ่อค้าคนกลางมารับซื้อ และขายหน้าแปลง เป็นกำๆ โดยไม่ลืมที่จะนำไปผัด แกง ต้ม ในแต่ละบ้านของชุมชนด้วย
น้ำถึง ดินอุดม ต้นไม้ทุกต้นจึงงดงาม ข้าวโพดฝักสวย มันสำปะหลัง จากเดิม มีผลผลิต 5 ตัน/ไร่ แต่เมื่อ น้ำถึง อุแม่เจ้า…..กลายเป็น 8-10 ตัน/ไร่
พวกเขาขยัน ทำกินในละแวกบ้าน หลังเสร็จงานอื่น ยามแดดร่ม จูงมือลูกหลานมาช่วยกันรดน้ำผัก เด็กๆวิ่งเล่น เสียงเจี๊ยวจ๊าว มีความสุข ตามที่ เป็น อยู่ คือ
ชีวิตแบบนี้ ใช่ไหม… ที่คนเมืองถวิลหา สวรรค์บ้านนา อากาศสะอาด ปล่อยเวลาให้ไหลไปตามทำนอง ไม่เร่งเร้า ไม่รีบร้อน มีเงินทองใช้สอย ไม่ขาดมือ จัดระเบียบของการอยู่ร่วมกันอย่างร่มเย็น สมชื่ออำเภอ ที่เป็นหลักธรรมเด่นสง่า ที่ “อำเภอพระยืน”…….
แปลงยาวเหยียด จึงมีเทคนิค ปลูกผักได้หลายชนิด กินได้ทั้งปี เป็นแฟชั่น ศิลปะ ความงามได้อีกด้วย
สาวๆ ชอบใจ ความอวบอุดมของพืชพรรณ ขอสมัครเป็น “ธิดาแตงล้าน” กันยกก๊วน….
ป้าคำผัด จำปาหอม วัย 67 แชมป์คนขยันของหมู่บ้าน เก็บผักขาย ได้เงิน แล้วให้หลานขี่มอไซค์ไปฝากเงินที่ ธอส.ทุกวัน