จากหนอนถึงเส้นใย และผ้าไหม @ชนบท
7 กุมภาพันธ์ 61 22:50:13
คอลัมน์ “รู้จริง ถิ่นเฮา”
โดย “น้องดอกคูน”
….เรื่องเล่า อ่านสนุก ซอกมุมของบรรพบุรุษ และมองออกไปเบื้องหน้า ในบริบทของ เศรษฐกิจ สังคม การเมือง เมื่อทุกเรื่องม้วนร้อย เป็นมิติเดียวกัน เหลืองสะพรั่งของดอกคูณ และ เสียงแคน แล่นแต้ มาแล้ว………….
^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^
มนุษย์คิดค้น เครื่องนุ่งห่มให้ตัวเอง ตามสภาพแวดล้อมของลม ฟ้า อากาศ จากแพรบางเบาของเส้นศูนย์สูตร ถึงชุดมิดชิดปิดตลอดตัวของเอสกิโมที่ขั้วโลก
จากเส้นทางไหมในประเทศจีน นับพันปี “ผ้าไหม” ยังเป็นอมตะ ทรงคุณค่าของตัวเองเสมอมา ภูมิปัญญาของไทย ที่ถ่ายทอด ตกต่อกันมาเป็นรุ่นๆ จึงเป็นทุนทางสังคมของแต่ละพื้นถิ่น
อำเภอชนบท มีชื่อเสียงมาก เรื่องผ้าไหม เมื่อโลกเปลี่ยนไป เราย่อมต้องปรับตัว ใครปรับก่อนย่อมคล่องตัว ทันตาเห็น
คุณทวี สุขโข ปั้นแบรนด์บ้านๆ ให้ทะยานสู่สากล และพร้อมที่จะแบ่งปันประสบการณ์ ให้พี่น้องคนไทยทุกคน ฝีมือจับจีบผ้า ไร้เทียมทานจริงๆ
"คุณทวี สุขโข" วัย 56 ชาวดอนข่า อำเภอชนบท เกิดและเติบโตที่นี่ มารดา-บิดา เป็นชาวนา เช่นเดียวกับคนในหมู่บ้านนี้ ที่มีอยู่ราว 102 หลังคาเรือน
ความที่มารดาเป็นแม่บ้าน ชอบทอผ้า งานศิลปะที่ลูกสาว มักได้รับการถ่ายทอดจากแม่-ย่า-ยาย เขาวิ่งเล่นอยู่ใต้ถุนบ้าน ที่แม่ทอผ้า นั่งทำงานที่กี่กระตุกทุกวันหลังเสร็จจากงานบ้าน งานนา ลูกชายคนนี้ซึมซับงานผ้าไหมแบบไม่รู้ตัว
แต่ลูกชายก็ไม่ได้มีข้อห้ามว่าจะเรียนรู้งานทอผ้าและงานผ้าของแม่ไม่ได้ หลังเรียนจบ ระดับ ปวส.เขารู้ว่างานผ้าจะช่วยให้ครอบครัวมีรายได้ จึงหันมาช่วยแม่อย่างจริงจัง ซึ่งก็ทำให้ก้าวเดินออกมานำโด่ง ติดอันกับ 1 ใน 5 ของกูรูด้านผ้าไหม และมีผลงานติดอันดับ คว้ารางวัลตรา “นกยูง” สุดยอดของประเทศ มาครองแบบมั่นใจ
วันนี้จึงขอคืนคุณแผ่นดิน รับที่จะเป็นวิทยากร ถ่ายทอดความรู้ให้คนรุ่นหลัง บนฐานความสุข มากกว่าการยังชีพ ที่ผกผันมาจากวัยหนุ่ม ด้วยการเปิดบ้านเป็นศูนย์การเรียนรู้ และคาดว่าจะมอบมรดกทางปัญญานี้ให้กับลูกๆ ทั้ง 4 ( เรียบจบและกลับมาช่วยบิดาแล้ว 2 คน )
แบรนด์ “สุขโข” รับรางวัล การันตีคุณภาพ “ตรานกยูง” จากกรมหม่อนไหม
กว่าจะมาเป็น “ผ้าไหม” ที่เมื่อหันกลับมามองกระบวนการที่มี การผลิตแล้ว น่าทึ่ง จากวงจรชีวิตของ “ผีเสื้อ” ตัวสวย ที่เริ่มต้นตัวอ่อนด้วยไข่ นับล้านๆ กลายเป็นหนอนตัวน้อย ที่นอนๆกินๆ ใบหม่อนมากกว่าสามเท่าของน้ำหนักตัว คะเนว่าพวกมันกินใบหม่อมราว 3 กิโลกรัม จนเริ่มพ่นสร้างเส้นใยกลายเป็นแคปซูลห่อหุ้มตัวเอง มุดสุ่มการเติบโตและกลายเป็นผีเสื้อแสนสวย ในเวลาครบรอบวงจรชีวิตราว 25-27 วัน
แต่ชีวิตของพวกมันหยุดลง เมื่อฝักแคปซูลแก่จัดได้ที่ กระบวนการได้มาของเส้นไหมความยาวราว 1,600 เมตร ต่อฝัก จึงเกิดขึ้นทันที ด้วยการต้มจนสุก สาวไหม กรอไหม หรืออาจย้อมสี นำไปทอผืนผ้าสวย ให้เราสวมใส่
นี่น่า…จะเป็นคำตอบที่หลายคนถามว่า “ผ้าไหม” ราคาสูงกว่า “ผ้าทอวิทยาศาสตร์” เพราะความต่างของคุณค่า เช่นนี้….บวกรวมกับภูมิปัญญาลวดลายการทอของแต่ละชุมชน
ซื้อผ้าไหม ครั้งต่อไป หรือสวมผ้าไหม ในวันใด ให้หวนรำลึกถึงงานศิลปะ และเรื่องราวของผีเสื้อแสนสวยด้วยความสุข ของทั้งครอบครัวผู้ผลิต และอาภรณ์แห่งความสง่างาม ……..
เรื่องราวของผ้าไหม “สุขโข” ถูกนำไปเผยแพร่ ในนิตรสารกินรี บนเครื่องการบินไทย
บ้านนี้ น่าแวะไปเยี่ยมชม…คุณล่ะ ไปรึยัง…….