1 Day Trip in KKC @ เปือยน้อย
24 กรกฎาคม 61 06:30:07
คอลัมน์ “รู้จริง ถิ่นเฮา”
โดย “น้องดอกคูน”
….เรื่องเล่า อ่านสนุก ซอกมุมของบรรพบุรุษ และมองออกไปเบื้องหน้า ในบริบทของ เศรษฐกิจ สังคม การเมือง เมื่อทุกเรื่องม้วนร้อย เป็นมิติเดียวกัน เหลืองสะพรั่งของดอกคูณ และ เสียงแคน แล่นแต้ มาแล้ว…………. พบเรื่องใหม่ทุกวันอังคาร และวันพฤหัสบดี
^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^
จังหวัดขอนแก่น มี 26 อำเภอ มีที่เที่ยว ที่ไหนกัน น๊าาาา…..
ตามมาเลย…ร่วมคณะไปทดสอบเส้นทาง ท่องเที่ยววิถีชุมชน ให้ครบ ทั้ง 26 เส้นทาง ใน 26
อำเภอ แล้วคุณจะรู้ว่า นครขอนแก่น มีทุนทางวัฒนธรรม ทุนทางสังคม ของดีพื้นถิ่น ของกินอร่อยซุกตัวอยู่ตามชุมชน ชวนให้ไปสัมผัส วัตถุประสงค์ คือ อาจเป็นเส้นทาง แสวงหาที่ใช่ สำหรับการผนวก กับการเป็นเมือง MICE CITY หมายถึง การเป็นเมืองที่ลงตัวของ การจัดประชุม ที่เที่ยวที่เดียวกัน ด้วยแนวคิด "Amazing Thailand : Go Local เที่ยวท้องถิ่นไทย ชุมชนเติบใหญ่ เมืองไทยเติบโต"
อำเภอเปือยน้อย ลำดับที่ 11/26
( Enjoy Saturday : วันเสาร์ที่ 21 กรกฏาคม 2561 )
เส้นทาง จากอำเภอเมือง มุ่งหน้าไป อำเภอเปือยน้อย ราว 80 กิโลเมตร นั่งรถกันพอเพลินๆ หนึ่งชั่วโมงกว่าๆ ก็ถึงแล้ว คณะร่วมเดินทางในครั้งนี้ นับร้อยชีวิต การดูแลบริหารจัดการ แม้อาจดูน่าหนักใจ แต่พบว่า สมาชิกทุกคนมีไมตรีต่อกัน เอื้อเฟือ ถ้อยที ถ้อยอาศัย เรื่องที่คิดว่ายาก จึงง่ายลงพลัน ขอบคุณนักท่องเที่ยวชาวขอนแก่นทุกคน ที่ทำให้ทีมงานจิตอาสาทำงานแบบสนุกสนาน ไร้กังวล และเต็มที่กับทุกจุด ทำงานกันแบบสุดใจไปเลย
จุดแรกของอำเภอเปือยน้อย คือ โรงเรียนผู้สูงอายุ “ศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุและส่งเสริมอาชีพผูงอายุ” ขององค์การบริหารส่วนตำบลขามป้อม เป็นผู้ดูแล ฟังบรรยายสรุป กิจกรรม สำหรับ สว.-สูงวัย ตามกระแสของพลเมืองที่ก้าวสู่ยุคสังคมสูงวัย แนวทางแห่งการแสวงหาความสุข ในยามชรา นักเรียนของศูนย์ฯแห่งนี้ เป็นเด็กชาย-เด็กหญิง วัยมากกว่า 60 ปี ขึ้นไป มีตารางเรียน สัปดาห์ละ 2 วัน มีกิจกรรมสันทนาการ ให้สุขภาพกาย สุขภาพใจ ร้องรำ ทำเพลง เด็กชายเล่นดนตรี เด็กหญิงเป็นนางรำ น่ารัก น่าประทับใจ กับวัย ย่ายาย ซึ่งสักวันพวกเราก็ต้องเดินทางไปถึง เช่นกัน
ทุกชุมชนมักมีบึงน้ำ เป็นศูนย์กลางของหมู่บ้าน การก่อตั้งชุมชนอยู่อาศัย มักรายล้อมรอบแหล่งน้ำ ให้ออกกำลังกายกันหน่อย ข้ามสะพานหนองน้ำ “สระวงษ์” เย็นสายน้ำ ข้ามไปอีกฟาก เพื่อไปขอพรจาก “เจ้าปู่อุปฮาด” หรือ เจ้าอุปราชา เป็นศรัทธาของชุมชนว่า ที่ท่านเป็นผู้ปกปักรักษาบ้านเมือง จากอดีต สู่ปัจจุบัน ออกกำลังกายกัน เดินตามเส้นทาง ในที่โล่ง ข้ามสะพาน ข้ามบึง เดินเลี้ยว ข้ามถนนไปยังบริเวณปราสาทเปือยน้อย สายน้ำ สายลม ธรรมชาติรอบข้าง ทำให้ความเหนื่อยทุเลา ไม่ได้ยินเสียงบ่น แม้จะเดินราวมากกว่าหนึ่งกิโลเมตร
สักการะ ปราสาทเปือยน้อย หรือ “กู่เปือยน้อย” ศิลปะขอม แบบบาปวนและแบบนครวัด มี “โคบุระ” หรือซุ้มประตู ลักษณะโค้ง มีพิธีทำบุญ บวงสรวงกู่ ทุกวันเพ็ญ 15 ค่ำ เดือน 5 ของทุกปี
ค้นพบหลักฐาน การก่อตั้งแม้จะอยู่ห่างไกลจากอาณาจักรขอมโบราณ แต่พบว่างานศิลปกรรมขอม มักจะกระจายอยู่หลายจุด เชื่อกันว่าก่อสร้างในยุคพุทธศตวรรษที่ 16-17 หรือ มีอายุกว่า 900 ปี มาแล้ว กรมศิลปกร ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน เมื่อปี 2532
ไฮไลต์ ที่น่าสนใจ คือ ทับหลังเหนือประตู ด้านหนน้าของปราสาท มีหินแกะสลักประติมากรรมชิ้น งดงาม “ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์” นับว่าเป็นชิ้นงานที่สมบูรณ์ที่สุดในประเทศไทย คุณๆน่าจะไปเยือนสักครั้งในชีวิต
มื้อกลางวัน ภายในบริเวณ โบราณสถาน ดื่มด่ำ ดุจย้อนเวลา สู่ยุคขอมรุ่งเรือง อาหารพื้นบ้าน ที่อร่อย แซ่บ ไม่รู้เบื่อ แม้คล้ายๆกันด้วยว่าเป็นอาหารพื้นบ้านของชาวอีสาน แต่ความต่างคือ รสชาติ เปรี้ยว เผ็ด ต่างกันไปตามรสนิยมของแต่ละชุมชน
บ่าย หลังมื้อกลางวัน ไปเยี่ยมชม แวะชิม ซื้อกลับบ้าน ความอร่อยของ “เมล่อน” ปลอดสาร พืชเศรษฐกิจ ที่ใช้เวลาปลูก ราว 80 วัน ให้ผลผลิตราว 520 ลูก ต่อ โรงเรือน วัดค่าความหวาน ได้มาตราฐาน ตัดไว้รอขาย เกลี้ยงทุกลูก เจ้าของไร่ ยิ้มอ่อน ปลื้มใจ นับเงิน เก็บเงิน มีความสุข
จุดสุดท้าย ที่คณะไปเยี่ยมชม และอุดหนุน คือ “กลุ่มสตรีทอผ้าไหมมัดหมี่” บ้านโสกนาค มีกลุ่มแม่บ้าน ช่างทอผ้า ฝีมือดี มาอวดฝีมือ ต้มรังไหม สาวไหม นั่งทอผ้า วิถีของหญิงชาวอีสาน งานอดิเรกที่หลายคนยึดเป็นอาชีพได้ พบว่าสมาชิกสาวๆ อดใจไม่ไหว ช้อปปิ้ง หยิบผ้าไหม ผ้าฝ้าย กันมาคนละหลายชิ้น เงินสะพัด กระจายรายได้ ไปสู่ชุมชนทันที
จากนั้น จึงกล่าวคำอำลา และ ออกเดินทาง กลับเข้าตัวเมือง ถึงหน้าศาลากลางจังหวัดขอนแก่น โดยสวัสดิภาพ
แต่ละจุด คุณๆ เลือกที่จะเดินทางไปได้เอง หรือไปเป็นหมู่คณะ ก็สนุก…..ปักหมุดเดินทางกันได้เลย………
ซีรี่ย์ต่อไป คือ อำเภอโนนศิลา ลำดับที่ 12/26 ……….พร้อมแล้วจูงมือไปด้วยกัน วันเสาร์ที่ 29 กรกฏาคม 2561 นี้…..
นักเรียนผู้สูงวัย หญิงเป็นนางรำ-ชายเป็น นักดนตรี ม่วนขนาด…
ต้นเปือย หรือต้นตะแบก ออกดอก”สีม่วง” จึงกลายเป็นสีประจำอำเภอเปือยน้อย
วิถีไหม ทุกเส้นใยมีความหมาย นั่งทำงานกันให้เห็น และทดลองทำได้ เป็นประสบการณ์ไม่รู้ลืม
ขนมดอกจอก อร่อยจากภูมิปัญญาท้องถิ่น แป้งกรอบๆ และวิถีการทำ ทำสวยด้วยกะลา
อาหารบ้านๆ ที่หน้าตา เป็นอาหารอีสานคล้ายๆกัน ต่างกันที่รสชาติ
เมล่อนสายพันธุ์ดี รับประกัน หวานทุกลูก
มัคคุเทศน์ฝึกหัด จากอาชีวะฯ เปิดเวที เพิ่มชั่วโมงบิน กับกิจกรรมนี้
สายสิญจน์ ฝีมือปราณีต ของชุมชน
“รำบุญกู่” สวยงาม พร้อมเพียง
สระวงศ์ บึงน้ำ ใกล้ปราสาทเปือยน้อย ธรรมชาติสบายตา
“นารายณ์บรรทมสินธุ์” ชิ้นที่สมบูรณ์ที่สุดของประเทศไทย อยู่ที่ปราสาทเปือยน้อย