1 Day Trip in KKC @ ชนบท
7 สิงหาคม 61 02:24:52
คอลัมน์ “รู้จริง ถิ่นเฮา”
โดย “น้องดอกคูน”
….เรื่องเล่า อ่านสนุก ซอกมุมของบรรพบุรุษ และมองออกไปเบื้องหน้า ในบริบทของ เศรษฐกิจ สังคม การเมือง เมื่อทุกเรื่องม้วนร้อย เป็นมิติเดียวกัน เหลืองสะพรั่งของดอกคูณ และ เสียงแคน แล่นแต้ มาแล้ว…………. พบเรื่องใหม่ทุกวันอังคาร และวันพฤหัสบดี
^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^
จังหวัดขอนแก่น มี 26 อำเภอ มีที่เที่ยว ที่ไหนกัน น๊าาาา…..
ตามมาเลย…ร่วมคณะไปทดสอบเส้นทาง ท่องเที่ยววิถีชุมชน ให้ครบ ทั้ง 26 เส้นทาง ใน 26
อำเภอ แล้วคุณจะรู้ว่า นครขอนแก่น มีทุนทางวัฒนธรรม ทุนทางสังคม ของดีพื้นถิ่น ของกินอร่อยซุกตัวอยู่ตามชุมชน ชวนให้ไปสัมผัส วัตถุประสงค์ คือ อาจเป็นเส้นทาง แสวงหาที่ใช่ สำหรับการผนวก กับการเป็นเมือง MICE CITY หมายถึง การเป็นเมืองที่ลงตัวของ การจัดประชุม ที่เที่ยวที่เดียวกัน ด้วยแนวคิด "Amazing Thailand : Go Local เที่ยวท้องถิ่นไทย ชุมชนเติบใหญ่ เมืองไทยเติบโต"
อำเภอชนบท ลำดับที่ 13/26
(Happy Friday : วันศุกร์ที่ 3 สิงหาคม 2561 )
อำเภอชนบท เป็นอำเภอที่ช่วยสร้างชื่อเสียงให้ จังหวัดขอนแก่น เป็น “มหานครแห่งเมืองไหม” อย่างแท้จริง เชื่อไหมล่ะ..แว่บแรก ที่คุณๆนึกถึงผ้าไหม คุณคิดถึงที่ไหนล่ะ…ก็ต้องผ้าไหมชนบท ใช่ไหมล่ะ…อาการปลื้มปลิ่ม ของชาวเมืองขอนแก่น ยังคงตึกตัก อยู่ในอก ในใจ..รออะไรกันหากจะกวักมือชวนกันไปอำเภอชนบท ด้วยกัน
ล้อหมุน ออกเดินทาง จากตัวเมือง มุ่งหน้า อำเภอชนบท ระยะทาง 72 กม. จุดแรกที่ต้องไปสักการะ คือ ศาล “เจ้าพ่อมเหสักข์” ความเคารพคู่บ้าน คู่ชุมชน ของชาวชนบท ยามตั้งบ้าน ตั้งเมือง เมื่อ 235 ปี ที่ผ่านมา การแสดงออกถึงความเคารพ ในปัจจุบัน กระทำด้วยการ กดแตรยาวๆ เมื่อรถยนต์แล่นผ่านบริเวณใกล้ศาล และมีคำบอกเล่ากันต่อๆ มาว่า “ท่านชอบเขยฝรั่ง”
ชื่อดั้งเดิม ของการก่อร่าง สร้างชุมชน คือ “ชลบถ” หมายถึงเมืองที่มีทางน้ำไหลผ่าน ต่อมาจึงเพี้ยนคำเขียน เป็น “ชนบท” แต่ยังเป็นเสียงอ่านเดิม
ฟังบรรยายสรุป และเยี่ยมชม วิทยาลัยการอาชีพขอนแก่น “ศาลาไหมขอนแก่น” งานในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในหลวงรัชกาลที่ 9 เปิดอย่างเป็นทางการ เมื่อปี 2535 เนื่องในวโรกาส “ 5 รอบ : 60 พรรษา มหาราชินี”
“ศาลาไหมขอนแก่น” มีวัตถุประสงค์ เพื่อเป็นสถานศึกษา พัฒนา อนุรักษ์ ค้นคว้า วิจัย ฝึกอบรม เรื่อง ผ้าไหม ให้กับชาวบ้าน ศาลาแห่งนี้ มีการเก็บรวบรวมลายต้นแบบของผ้าไหม อันเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นของชาวอีสาน ที่นับวันจะหาดูได้ยากมากแล้ว และยังมีสินค้าผ้าไหมให้ช้อปปิ้งอีกด้วย หากจะพามิตรสหายไปเยี่ยมชมเป็นหมู่คณะ เขาก็ยินดีให้บริการ นัดกันไปล่วงหน้าได้ทันที
“ศูนย์เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าทางการเกษตร” ชื่อก็บอกชัดว่า ช่วยยกระดับสินค้าทางการเกษตร กลุ่มนี้นำโดย นางบุญเต็ม สุดใจ ประธานกลุ่ม พวกเขาเลือกโปรดักส์แชมเปี้ยน คือ “ข้างฮางงอก” เป็นการเพิ่มมูลค่าข้าว จากการขายข้าวสารแสนธรรมดาๆ กิโลกรัมละ 10-15 บาท ให้กลายเป็น 60-80 บาท ต่อ กิโลกรัม
ความน่ารักของ การทำงานเพื่อชุมชน มักจะมีรอยยิ้มรายทางอยู่เสมอ สังคมสูงวัย จึงทำให้เกิด “โรงเรียนผู้สูงอายุบ้านห้วยอึ่ง” มีนักเรียนราว 60 คน อายุสูงสุด คือ นักเรียนวัย 90 ปี
กลุ่มแม่บ้าน ทอผ้าย้อมสีธรรมชาติ แบบครบวงจร นำโดย นางบุญสิน ราษฏร์เจริญ ประธาน กลุ่ม ความเข้มแข็งของผู้นำและความขยัน ซื่อสัตย์ของสมาชิก ทำให้พวกเขาแบ่งปันความสุขระหว่างกัน ชาวเมืองแอบอิจฉาเล็กๆ ที่นี่ มี มื้อเที่ยง ด้วยฝีมือกลุ่มแม่บ้าน ที่บรรจงแบบสุดฝีมือ ด้วยอาหารพื้นถิ่น แซ่บอีหลี…..
กลุ่มแม่บ้าน ทอผ้ามัดหมี่ นำโดย นางสุภาณี ภูแล่นกี่ กลุ่มนี้รวมตัวกันได้นานแล้ว จึงมีพัฒนาการ ที่ค่อยข้างอยู่ตัว รับนักท่องเที่ยว แขกวีไอพี ที่เข้ามาเลือกซื้อผ้าไหม นับเงินกันเป็นหลักแสนมาแล้ว
ร่วมกิจกรรม ที่ “โคกหนองนาโมเดล” จากแนวคิดของ “คนรักถิ่น” คุณเสกสรร งามดี ผู้บริหาร บริษัท ไทยเฮอร์เบิลสแตนดาร์ด จำกัด เขาใช้ภูมิปัญญา ตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงของ ในหลวงรัชกาลที่ 9 น่าภูมิใจแทนคนบ้านนี้ ที่มีคนหนุ่ม คนขยันเข้ามาพัฒนาถิ่นเกิดของตัวเอง
และแน่นอนว่า ทุกจุดที่เราแวะเข้าเยี่ยมชมนั้น มีสินค้าจากชุมชนมาจัดจำหน่าย ช้อปปิ้ง กระจายรายได้ จากนั้น จึงกล่าวคำอำลา และ ออกเดินทาง กลับเข้าตัวเมือง ถึงหน้าศาลากลางจังหวัดขอนแก่น โดยสวัสดิภาพ
แต่ละจุด คุณๆ เลือกที่จะเดินทางไปได้เอง หรือไปเป็นหมู่คณะ ก็สนุก…..ปักหมุดเดินทางกันได้เลย………
ซีรี่ย์ต่อไป คือ อำเภอโคกโพธิ์ชัย ลำดับที่ 14/26 ….พร้อมแล้วจูงมือไปด้วยกัน วันเสาร์ที่ 4 สิงหาคม 2561 …..
นักเรียน โรงเรียนผู้สูงอายุ บ้านห้วยอึ่ง ไปโรงเรียน 1 วัน/สัปดาห์ วิชาฟ้อน ถูกใจเป็นที่สุด
ผ้าไหม ทอขึ้นเป็นพิเศษ มูลค่า 300,000.- บาท เมื่อราว 20 ปี ก่อน มา..วันนี้ประเมินค่ามิได้แล้ว
“ศาลาไหมไทย” เปิดให้เข้าชมทุกวัน
บรรยากาศชายทุ่ง ที่คนกรุงถวิลหา
กลองยาว ยังอยู่คู่กับวิถีชุมชน
“โคกหนองนาโมเดล” มีไว้ให้ เชิญชวนไปสัมผัสกันที่ชุมชนบ้านแท่น อำเภอชนบท
“เจ้าพ่อมเหสักข์” เป็นที่เคารพ คู่บ้าน คู่ชุมชน ของชาวชนบท