1 Day Trip in KKC @ ภูเวียง
21 สิงหาคม 61 14:42:53
คอลัมน์ “รู้จริง ถิ่นเฮา”
โดย “น้องดอกคูน”
….เรื่องเล่า อ่านสนุก ซอกมุมของบรรพบุรุษ และมองออกไปเบื้องหน้า ในบริบทของ เศรษฐกิจ สังคม การเมือง เมื่อทุกเรื่องม้วนร้อย เป็นมิติเดียวกัน เหลืองสะพรั่งของดอกคูณ และ เสียงแคน แล่นแต้ มาแล้ว…………. พบเรื่องใหม่ทุกวันอังคาร และวันพฤหัสบดี
^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^
จังหวัดขอนแก่น มี 26 อำเภอ มีที่เที่ยว ที่ไหนกัน น๊าาาา…..
ตามมาเลย…ร่วมคณะไปทดสอบเส้นทาง ท่องเที่ยววิถีชุมชน ให้ครบ ทั้ง 26 เส้นทาง ใน 26
อำเภอ แล้วคุณจะรู้ว่า นครขอนแก่น มีทุนทางวัฒนธรรม ทุนทางสังคม ของดีพื้นถิ่น ของกินอร่อยซุกตัวอยู่ตามชุมชน ชวนให้ไปสัมผัส วัตถุประสงค์ คือ อาจเป็นเส้นทาง แสวงหาที่ใช่ สำหรับการผนวก กับการเป็นเมือง MICE CITY หมายถึง การเป็นเมืองที่ลงตัวของ การจัดประชุม ที่เที่ยวที่เดียวกัน ด้วยแนวคิด "Amazing Thailand : Go Local เที่ยวท้องถิ่นไทย ชุมชนเติบใหญ่ เมืองไทยเติบโต"
ตามมาเลย…ร่วมคณะไปทดสอบเส้นทาง ท่องเที่ยววิถีชุมชน ให้ครบ ทั้ง 26 เส้นทาง ใน 26
อำเภอ แล้วคุณจะรู้ว่า นครขอนแก่น มีทุนทางวัฒนธรรม ทุนทางสังคม ของดีพื้นถิ่น ของกินอร่อยซุกตัวอยู่ตามชุมชน ชวนให้ไปสัมผัส วัตถุประสงค์ คือ อาจเป็นเส้นทาง แสวงหาที่ใช่ สำหรับการผนวก กับการเป็นเมือง MICE CITY หมายถึง การเป็นเมืองที่ลงตัวของ การจัดประชุม ที่เที่ยวที่เดียวกัน ด้วยแนวคิด "Amazing Thailand : Go Local เที่ยวท้องถิ่นไทย ชุมชนเติบใหญ่ เมืองไทยเติบโต"
อำเภอภูเวียง ลำดับที่ 17/26
( Wonderful Monday : วันจันทร์ที่ 13 สิงหาคม 2561 )
ล้อหมุน ออกเดินทาง จากตัวเมือง มุ่งหน้า อำเภอภูเวียง ระยะทาง 68 กม. สมาชิกหลายคนรู้สึกได้ว่า กำลังเคลื่อนตัวเข้าสู่ดินแดนประวัติศาสตร์ ชื่ออำเภอ เพราะจัง “ภูเวียง” ถอดความออกมาแล้ว คือ เมืองที่แอบอิงอยู่ในภูเขา- เมืองในภู
อำเภอภูเวียง เป็นหนึ่งในห้า ของอำเภอรุ่นแรก ในยุคก่อตั้ง ในปี 2445 ได้แก่ อำเภอเมือง, น้ำพอง มัญจาคีรี ชลบถ (ต่อมาเขียนเป็น ชนบท) และ ภูเวียง
อำเภอภูเวียง มีการแยกตัว แบ่งพื้นที่ ออกไป เป็นอีกหลายอำเภอ อาทิ อำเภอชุมแพ หนองนาคำ และ เวียงเก่า ตัวตนของภูเวียง จึงอาจเหงา เศร้าสร้อยกันอยู่บ้าง แต่ ผู้คนและเสน่ห์ของชุมชนไม่เคยจืดจาง
จุดแรก ของอำเภอภูเวียง ที่คณะไปเยือน คือ ศูนย์รวมพลังศรัทธาของชาวพุทธ “วัดป่ากิตติญานุสรณ์” พื้นที่ราว 130 ไร่ เดิมเป็นป่าช้า ชาวบ้านจึงไปนิมนต์พระสงฆ์ มาจำวัด ตั้งเป็นสำนักสงฆ์ ต่อมาในปี 2544 จึงก่อตั้งเป็นวัด
ภายในบริเวณวัด มีพระเกศแก้วจุฬามณีเจดีย์ ตั้งเด่น งามสง่า และทิศถัดกันนั้น เป็น “พระนอน” มีความยาว 45 เมตร นับเป็นพระนอน องค์ใหญ่ที่สุดใน ขอนแก่น ภายในพื้นที่อาคารบริเวณฐานพระนอน เป็นที่รวบรวมพระบรมสารีริกธาตุ ที่มากที่สุดในขอนแก่น เช่นกัน ท่านเจ้าอาวาส เป็นผู้นำชมด้วยตัวเอง ข้อมูลเชิงลึก จึงได้รับการบอกเล่า หากมีโอกาส ครั้งหน้ามีเรื่องเล่า น่าจะใช้เวลาเนิบช้า ชีวิตสโลว์ไลฟ์ ความสุขจะหลั่งไหลมาเติมชีวิตแบบไม่รู้จบได้
จากนั้น ไปสักการะ “หลวงพ่อทันใจ” มีเรื่องเล่าว่า เมื่อครั้งกำลังหล่อก่อสร้างพระพุทธรูปองค์นี้นั้น พอเทปูนลงไป เพียงอึดใจ (ราว 2-3 ชม) ปูนก็เช็ทตัว ก่อเป็นรูปองค์พระแบบทันใจมาก จึงเรียกกัน ปากต่อปากเรื่อยมาว่า “พระทันใจ” ขอพร ก็ได้ทันใจ…เช่นกัน
“หมู่บ้านอนุรักษ์ควายไทย” ภูเวียงเมืองแห่งขุนเขา และชายน้ำ บริเวณก่อนถึงอ่างเก็บน้ำของเขื่อนอุบลรัตน์ ชายน้ำที่ล้นเลยออกมา จึงเป็นที่ตกตะกอนของแร่ธาตุ แหล่งอาหารสำคัญ หญ้า พืช สัตว์เลี้ยง จึงเติบโตได้ดี ชุมชนจึงรวมตัวกัน เลี้ยงควาย เมื่อปี 2542 เริ่มจาก ไม่กี่ตัว จนมีหน่วยงานภาครัฐเข้ามาสนับสนุน ประชากรควาย เพิ่มขึ้นจาก ราว 500 ตัว เป็น 1,500 ตัว
การทำนา ในยุคนี้ เป็นการใช้เครื่องจักร เข้ามาใช้งาน แรงงานควายจึงตกงาน พวกมันไถนาไม่เป็น และหากไม่อนุรักษ์อาจสูญพันธ์ ได้อีกไม่ช้านี้
ชุมชนนี้ สมาชิก 19 ครัวเรือน จึงตกลงใจกัน เลี้ยงควาย-สัตว์เลี้ยง ที่น่ารัก ตัวอ้วนกลม วันนี้มีสมาชิกเพิ่มมากขึ้น แม้ต้องใช้เวลาอุ้มท้อง นานราว 300 วัน ตกลูกคราวละ 1 ตัว
การเลี้ยงควาย ไม่ยุ่งยาก เช้า-ต้อนพวกมันลงทุ่งหญ้า บริเวณชายน้ำ ของเขื่อน ปล่อยให้และเล็มหญ้า สบายใจ ทั้งวัน ตกค่ำก็ต้อนเข้าคอก วิถีควาย ก็เท่านี้จริงๆ
ผู้นำชุมชน มีวิสัยทัศน์ดี จากเดิมเลี้ยงเพื่อไถนา ครั้นมี “ควายเหล็ก” ควายมีชีวิตจึงตกงาน จึงมีการเลี้ยงเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจ การท่องเที่ยว ให้เป็นการแสดง “ ควายแสนรู้ ภูมิปัญญาท้องถิ่น” นักท่องเที่ยว ต่างชอบใจ ชุดการแสดงนี้ ปรบมือกัน ดังกึกก้อง
เยี่ยมชม ช้อปปิ้ง กลุ่มผ้าฝ้ายทอมือ “นาชุมแสง” ผ้าคลุมไหล่ ผ้าห่ม ผ้าปูโต๊ะ ผ้าคลุมเตียง ด้วยความเข้มแข็ง และการได้รับสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐ อาทิ พัฒนาชุมชน และ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มาช่วยเป็นพี่เลี้ยง จึงเป็นสินค้าโอทอปที่ขายดีอีกจุดหนึ่งของภูเวียง
มื้อกลางวัน …….รับประทานอาหาร พื้นบ้าน แบบที่อยู่ ที่กิน จากพืช ผักในชุมชน
“พัทยา2” พื้นที่ราบลุ่ม ประหนึ่งชายทะเล (ที่ไร้คลื่น) เวิ้งน้ำและแผ่นดิน เล่นระดับเป็นเนื้อเดียวกัน มีห่วงยาง เก้าอี้ชายหาด เรือถีบ ช่วงทุกเทศกาล มีนักท่องเที่ยวมาก ยิ่งสงกรานต์ ยิ่งแน่น รถติดยาวเป็นกิโล สมฉายา พัทยา2 จริงๆ
จุดสุดท้าย เยี่ยมชุมชน ศูนย์เรียนรู้ตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง “บ้านกุดขอนแก่น” บนเนื้อที่กว่า 100 ไร่ ที่ถูกจัดสรร เป็นแปลงๆ ปลูกผักอินทรีย์ หลายชนิด อาทิ เห็ด แก้วมังกร เก็บสดๆ ซื้อกลับบ้าน สบายใจ
สุดยอดสินค้าโอทอปอีกอย่าง ของชุมชนนี้ คือ “แคปหมู“ ผลิตกันหลายบ้าน ส่งขายไปทั่วประเทศ กรอบ อร่อย ถูกใจคอก๋วยเตี๋ยวเรือ และคอส้มตำยิ่งนัก
ช้อปปิ้ง ในจุดสุดท้าย มีพืชผัก สดจากสวน มารอไว้ ชาวเมืองช้อปกันสนุก หลายคน
อินเทรนด์ พกถุงผ้า ไม่รับถุงพลาสติก และหลายคน นำพืช ผัก ไปปรุงอาหาร ใส่บาตร ถวายพระ ในวันรุ่งขึ้น น่าปลื้มนะ…..ชุมชนเติบใหญ่ เมืองไทยเติบโต…
แต่ละจุด คุณๆ เลือกที่จะเดินทางไปได้เอง หรือไปเป็นหมู่คณะ ก็สนุก…..ปักหมุดเดินทางกันได้เลย………
ซีรี่ย์ต่อไป คือ อำเภอซำสูง ลำดับที่ 18/26 ….พร้อมแล้วจูงมือไปด้วยกัน วันศุกร์ที่ 17 สิงหาคม 2561 …..
“พระนอน “ ยาว 45 เมตร นับเป็นพระนอนที่ยาวที่สุดในขอนแก่น และเป็นที่รวบรวมพระบรมสารีริกธาตุ มากที่สุด ในขอนแก่น ด้วยเช่นกัน
ห่วงยาง เล่นน้ำ และเรือถีบ ที่ พัทยา2 น่าจะถูกใจเด็กๆ
“ควาย” สัตว์คู่กับ กสิกรรม ของชาวไทย พวกมัน กินหญ้า สบายใจเฉิบๆ
การแสดงที่ถูกใจ นักท่องเที่ยว เต้นฮูลาฮูบบนหลังควาย และเดินพับเพียบ
วัดป่ากิตติญานุสรณ์ สักการะ "พระเกศแก้วจุฬามณีเจดีย์" ตั้งเด่น งามสง่า
วัดป่ากิตติญานุสรณ์ สักการะ "พระเกศแก้วจุฬามณีเจดีย์" ตั้งเด่น งามสง่า
พัทยา2
ขอบคุณภาพประกอบจาก Lung Jack Kasemsan