จิตวิญญาณ จานอร่อย จากชุมชน
24 กันยายน 61 22:51:17
คอลัมน์ “รู้จริง ถิ่นเฮา”
โดย “น้องดอกคูน”
….เรื่องเล่า อ่านสนุก ซอกมุมของบรรพบุรุษ และมองออกไปเบื้องหน้า ในบริบทของ เศรษฐกิจ สังคม การเมือง เมื่อทุกเรื่องม้วนร้อย เป็นมิติเดียวกัน เหลืองสะพรั่งของดอกคูณ และ เสียงแคน แล่นแต้ มาแล้ว…………. พบเรื่องใหม่ทุกวันอังคาร และวันพฤหัสบดี
^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^
ปกติของการจัดงานคอนเสิร์ต ที่มีลักษณะระดมทุน เพื่อกิจกรรมส่วนรวม มักมีศิลปินเป็น “แม่เหล็ก” ให้แฟนคลับ รื่นรมย์ มีความสุข และองค์ประกอบสำคัญอีกเรื่อง คือ อาหารการกิน ที่หากเช็ทเป็นมื้อค่ำ ที่ต้องเสริฟ มักเป็นเมื่อปกติ ทานไป เพลินเพลงของศิลปิน ชิล..ชิล…
แต่งานนี้ ดูช่างเข้ากระแสของการท่องเที่ยวระดับโลก ที่พวกเขาให้ความสำคัญกับเรื่อง “อาหาร” จนมีการจัดสัมนาระดับสากล-องค์การสหประชาชาติ UNWTO ใช้ชื่อว่า Gastronomy Tourism อันตีความในวงกว้างว่า ”ท่องเที่ยว กับ อาหาร”
เขาตีความลึกซึ้ง เรื่องอาหาร ไว้น่าสนใจ คือ การเข้าไปทำความรู้จัก ตั้งแต่จุดเริ่มต้นที่มาของวัตถุดิบ ปลูกที่ไหน เลี้ยงอย่างไร ใช้เวลาเท่าไหร่ มีประโยชน์ต่อร่างกายอย่างไร ตลอดจนขั้นตอนการปรุง ต้องใช้ไฟแรง ไฟอ่อน เครื่องปรุงจะช่วยเพิ่มความน่ารับประทานอย่างไร แบบนี้ไม่ถือว่าจะเป็นการขยายความลับ หรือเผยสูตรลับ แต่ประการใด เพราะเชื่อว่า “รสมือ” ของแต่ละคน แต่ละชาติ ย่อมมีเอกลักษณ์ของตัวเอง
อย่าง จะให้ฝรั่งผัดกระเพรา ก็พอจะผัดได้ดอกนะ แต่จิตวิญญาณต่างกัน ความอร่อยก็ย่อมต่างไปเช่นกัน
แม้นครขอนแก่น จะวางวิสัยทัศน์ของเมือง ให้เป็นศูนย์กลางในหลายเรื่อง อาทิ การขนส่ง การแพทย์ การประชุมระดับนานาชาติ และอื่น แต่พบว่า ทั้ง 26 อำเภอ ยังมีความเป็น “วิถีชุมชน” ที่น่าสัมผัส ไม่ว่าจะเป็นอาหารการกิน ศิลปวัฒนธรรม
“นางรำ” แต่ละชุมชน อ่อนช้อย น่ารัก คนละแบบ “ส้มตำ” เหมือนกัน แต่ต่างรสชาติกันนิดหน่อย “ปลาส้ม” จากลุ่มน้ำพอง ลำน้ำเดียวกัน พอนำมาหมัก รสชาติคุ้นลิ้นต่างกัน
ความอุดมสมบูรณ์ของแต่ละถิ่น ต่างกันตามสภาพภูมิเนินเขา ชุ่มน้ำ หรือแอ่งบ่อ พืช ผัก สัตว์เลี้ยง ก็เหมาะสมตามพื้นที่นั้นๆ บวกกับภูมิปัญญาท้องถิ่น และความขยันของผู้คน จึงเป็น “เสน่ห์” ของแต่ละชุมชน
ภาคต่อของ 1 Day Trip in KKC ทั้ง 26 อำเภอ จึงขยับขยายวงออกไป อย่างน่าอัศจรรย์ อาทิ มีการสั่งซื้อผ้าทอมือ จักสาร เสื้อผ้าสำเร็จรูป ผักสด เป็ด ไก่ ฯลฯ
“ไอเดียเด็ด” ที่ถูกนำมาผนวกกับกิจกรรม ที่อวดจานสวย เป็นอาหารตา ดื่มด่ำ ลุ่มลึก เกินเลยขีดของคำว่า “อร่อย” ระคนเสียงตัวโน้ต มันทึ่งในอารมณ์จริงๆ
เมนูมื้อค่ำ ของงานคอนเสิร์ต “หนึ่งอิ่ม… เพิ่ออีกหลายชีวิต” เมื่อวันอาทิตย์ที่ 16 กันยายน 2561 ณ สวนอาหารครัวริมน้ำ โดยมูลนิธิมะเร็งท่อน้ำดี เกิดปรากฏการณ์ใหม่ แขกรับเชิญที่มาร่วมงาน อาจพูดถึงเมนูมื้อค่ำ มากกว่าศิลปิน…ฮา…
สองศิลปิน ที่มา ให้ความบันเทิง ในค่ำคืนนั้น คือ ก้อย-ศรัณย่า ส่งเสริมสวัสดิ์ ศิลปินคุณภาพ ที่ใครจะเชื่อว่าเธอยืนอยู่ที่หลักหก แล้ว แต่หน้ายังใสๆ เสียงดีไม่มีตก และ ศิลปินอีกคน ที่ก้าวขึ้นมาจากเวทีการประกวด เขาเป็นแชมป์ คนล่าสุดของปี เวที The Voice #5 โอ-ศิร์ภูมิ เบญจรัล เขาและเธอทั้งคู่ บินมาเพื่อมินิคอนเสิร์ตการกุศล เพื่อระดมทุนผ่าตัด ช่วยผู้ป่วยโรคมะเร็งท่อน้ำดี นำทีมผ่าตัดฝีมือเนี๊ยบๆ โดยคุณหมอณรงค์ ขันดีแก้ว หมอศัลยกรรมมือวางอันดับหนึ่ง ที่เชี่ยวชาญมานานมากกว่ายี่สิบปี ช่วยยืดอายุคนอีสาน มาแล้วมากกว่าสามพันคน
ความลุ่มลึกของ เมนู ทั้ง 5 เสน่ห์ ที่อยากเล่า มีดังนี้… แล้วคุณๆ จะรู้ว่า ของกินบ้านเฮา มีมากกว่าที่คุณรู้จัก มีเสน่ห์ ชวนติดตาม ลองหยิบขึ้นมาสร้าง “คุณค่า” ให้เป็น “มูลค่า” ด้วยกันได้ ไม่ยาก…
เมนู จาน 1 : เป็ดร่อน สลัด ไข่ต้ม ข้าวโพด
เป็ดอารมณ์ดี จากอำเภอน้ำพอง จากฟาร์มของเด็กหนุ่ม ที่เคยเข้าไปแสวงหาโอกาส การทำงานในเมืองหลวง เมื่อชีวิตเดินทางมาถึงจุดหนึ่ง เขาตัดสินในกลับบ้านเกิด โดยมีบิดา เป็นผู้นำในการทำสวน บนที่ดินกว่า 13 ไร่ พ่อเป็นชาวสวน จึงไม่ยากที่จะถ่ายทอดด้วยการลงมือทำ เมื่อบวกกับประสบการณ์ของลูกชาย จึงเป็นฟาร์มเป็ด ที่ขาย ได้ทั้งแม่เป็ดและไข่เป็ด
สลัดผัก สดๆ จากแปลงปลูกปลอดสาร จากอำเภอซำสูง ที่พวกเขาภาคภูมิใจ กับ ยี่ห้อชื่อเดียวกับอำเภอ วางขายใน ท้อปซุปเปอร์มาร์เกต ทุกสาขา
ข้าวโพดหวานสด “ราชินีทับทิมสยาม” จากอำเภอสีชมพู ทานดิบ สด ไม่ต้องต้ม
เมนู จาน 2 : กุ้งเผา ป่นปลา
“กุ้งสด” ตัวเขื่อง จากเขื่อนของ อำเภออุบลรัตน์ การปล่อยลูกกุ้ง ลูกปลา ให้กลายเป็นอาหาร และอาชีพทำกิน ให้ชาวบ้าน บัดนี้ เห็นผลแล้ว
“ป่นปลา” รสชาติ จี๊ดจ๊าด ป่นของคนอีสาน คือ น้ำพริก ที่ใช้แทนน้ำจิ้มซีฟูดส์ ลงตัวความอร่อย เคียงมาพร้อมกับผักสด
เมนู จาน 3 : แป๊ะซะ (เมี่ยง)
ใช้ไก่ พันธุ์ “KKU1” จากผลงานวิจัย ของนักวิจัย มหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่มีกรดยูริก ในปริมาณต่ำกว่า ไก่เนื้อ นึ่งจนเนื้อนุ่ม เคียงด้วยเส้นเล็ก-เส้นนุ่ม นึ่งร้อนๆ มีน้ำจิ้ม สามแบบให้เลือก
ไก่พันธุ์ KKU1 เลี้ยงในชุมชน ทั้งเขตอำเภออุบลรัตน์, เขาสวนกวางและหนองเรือ
ข้าวสวย หอมนุ่ม มีคุณค่าทางอาหาร “ ทับทิมชุมแพ” สีออกม่วงนิล จากอำเภอชุมแพ
เมนูจาน 4: เมดเล่ย์ผลไม้ในถิ่น
“มะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง” จากอำเภอบ้านแฮด ส่งออกไปขายที่ไต้หวัน และเพิ่งเปิดตลาดที่ญี่ปุ่น เมื่อ มิถุนายน 2561 ที่ผ่านมา
“แตงโม” จากแปลงปลูก ในอำเภอโนนศิลา
“แก้วมังกร” จากแปลงปลูกของอำเภอหนองเรือ
เมนู จาน 5 : ไอศครีม
แหล่งผลิต จากอำเภอเขาสวนกวาง ใช้ข้าวโพดจากอำเภอชุมแพ ที่สำคัญและน่าสนใจ คือ ข้อความกำกับไว้ว่า “จำหน่ายเฉพาะในจังหวัดขอนแก่น” ท้าทายนักท่องเที่ยว ยิ่งนัก
วัตถุดิบ จากพื้นถิ่น อำเภอต่างๆ ของจังหวัดขอนแก่น จึงกลายเป็นมื้อค่ำที่มีความหมาย เป็นการกระจายรายได้ไปสู่ชุมชน ดีต่อสุขภาพ ดีต่อใจ ดีต่อชุมชน สมกับการที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย บอกคนไทย ให้ไปท่องเที่ยวเมืองไทยกันเถอะ “เที่ยวท้องถิ่นไทย ชุมชนเติบใหญ่ เมืองไทยเติบโต”
“จิตวิญญาณ จานอร่อย จากชุมชน” จึงเป็น “สามจอ” ที่ถูกบันทึก อยู่ในความทรงจำ ของแขกรับเชิญ กว่าร้อยชีวิต ในค่ำคืนนั้น….ไปอีกนาน……