10 กิ่งกาชาด @ขอนแก่น
29 ตุลาคม 61 23:26:58
คอลัมน์ “รู้จริง ถิ่นเฮา”
โดย “น้องดอกคูน”
….เรื่องเล่า อ่านสนุก ซอกมุมของบรรพบุรุษ และมองออกไปเบื้องหน้า ในบริบทของ เศรษฐกิจ สังคม การเมือง เมื่อทุกเรื่องม้วนร้อย เป็นมิติเดียวกัน เหลืองสะพรั่งของดอกคูณ และ เสียงแคน แล่นแต้ มาแล้ว…………. พบเรื่องใหม่ทุกวันอังคาร และวันพฤหัสบดี
^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^
สภากาชาดไทย เป็นองค์กรการกุศลระดับชาติ เพื่อมนุษยธรรม ตามหลักกาชาดสากล มีอายุการก่อตั้ง 125 ปี เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2561 ที่ผ่านมา ด้วยสัจพจน์ “บรรเทาทุกข์ บำรุงสุข บำบัดโรค กำจัดภัย”
การดูแลระดับชาติ เมื่อย่อส่วนลงมายังพื้นที่ ระดับจังหวัด ระดับอำเภอ จะช่วยให้การเข้าถึงพื้นที่ได้สะดวก รวดเร็ว ทันการ จึงมี “เหล่ากาชาด” ประจำแต่ละจังหวัด โดยมีภริยาท่านผู้ว่าราชการ ดำรงตำแหน่ง “นายกเหล่ากาชาด” โดยตำแหน่ง เว้นไว้แต่ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดสามารถรับตำแหน่งนี้ได้เองอีกด้วย
และย่อส่วนลงไปถึงระดับอำเภอ คือ “กิ่งกาชาด” มีชื่อตามอำเภอนั้นๆเป็นสำคัญ
การทำงานของ กระทรวงมหาดไทย มีนโยบายที่สอดรับกับสภากาชาดไทย คือการ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ดังนั้น จึงสนับสนุน การก่อตั้งกิ่งกาชาด ในอำเภอที่มีความพร้อม เพื่อกระจายจุดให้ความช่วยเหลือราษฏร์ อย่างทั่วล้วนยิ่งขึ้น
จังหวัดขอนแก่น ใช้กุศโลบาย การมีส่วนร่วมและสร้างเครือข่าย ในคราวเดียวกัน ด้วยการชักชวน นักธุรกิจ จากส่วนกลาง มา ”จับคู่-ผูกเสี่ยว” กับนักธุรกิจชาวขอนแก่นบ้านเรา จำนวน 22 คู่ เดินเข้าซุ้มศาลาผูกเสี่ยว กลายเป็น “เพื่อนรักตลอดชีวิต” และร่วมกันช่วยบริจาค เป็นทุนประเดิม ในการก่อตั้งกิ่งกาชาด อำเภอละ 100,000.-บาท เมื่อวันที่ 02 ธันวาคม 2560 ที่ผ่านมา
เงินทุนสนับสนุนพร้อม ใจพร้อม ชุมชนพร้อม ทีมงานพร้อม ที่สำคัญคือ ประชาชนในพื้นที่พร้อม ในการทำงานแบบยั่งยืน เพื่อช่วยเหลือเกื้อกูลคนในบ้านเกิดของตัวเอง
วันที่ 12 ธันวาคม 2560 ทางจังหวัดขอนแก่น จึงแสดงความพร้อม ในการก่อตั้งกิ่งกาชาด ทั้ง 22 อำเภอ (ซึ่งจะทำให้มีกิ่งกาชาดครบทั้ง 26 อำเภอ ในจังหวัดขอนแก่น)
วันที่ 13 กันยายน 2561 สภากาชาดไทย อนุมัติการก่อตั้งกิ่งกาชาด งวดแรก จำนวน 10 อำเภอ นับว่าเป็นจำนวนที่มากที่สุด นับแต่การก่อตั้งกิ่งกาชาดในประเทศไทย
ขอจารึก เป็นประวัติศาสตร์การก่อตั้งกิ่งกาชาด 10 อำเภอ ของจังหวัดขอนแก่น ดังนี้
1 กิ่งกาชาดอำเภอพล : สมาชิกก่อตั้งจำนวน 194 คน นายกกิ่งกาชาด คือ นางขนิษฐา พินิชพานิชย์ คู่เสี่ยว คือ คุณกอบศักดิ์ ดวงดี และ คุณนันฐิยา สิริกาญธนานันท์
2 กิ่งกาชาดอำเภอภูเวียง : สมาชิกก่อตั้งจำนวน 70 คน นายกกิ่งกาชาด (รอการแต่งตั้ง) คู่เสี่ยว คือ คุณสมหวัง ตั้งสมบัติวิสิทธิ์ และ ดร.ไพฑูรย์ มาเมือง
3 กิ่งกาชาดอำเภอกระนวน : สมาชิกก่อตั้งจำนวน 115 คน นายกกิ่งกาชาด คือ นางนิ่มนวล ศรีวงษ์ราช คู่เสี่ยว คือ คุณวศิน วณิชย์วรนันท์ และ ดร.สุวิทย์ สืบสารคาม
4 กิ่งกาชาดอำเภอน้ำพอง : สมาชิกก่อตั้งจำนวน 71 คน นายกกิ่งกาชาด คือ นางสายวสันต์ ลีเขาสูง คู่เสี่ยว คือ คุณมนูภาน ยศธแสนย์ และ คุณณัฐพล ประคุณศึกษาพันธ์
5 กิ่งกาชาดอำเภอบ้านฝาง : สมาชิกก่อตั้งจำนวน 97 คน นายกกิ่งกาชาด คือ นางภัทร์ธนธร ถุนนอก คู่เสี่ยว คือ คุณวชิรา ณ ระนอง และ คุณศิริ แก่นศักดิ์ศิริ
6 กิ่งกาชาดอำเภอเขาสวนกวาง : สมาชิกก่อตั้งจำนวน 63 คน นายกกิ่งกาชาด คือ นางวรารักษ์ รังษี คู่เสี่ยว คือ คุณดำรง วิภาวัฒนกุล และ คุณสุรัตน์ พิพัฒน์ไชยศิริ
7 กิ่งกาชาดอำเภออุบลรัตน์ : สมาชิกก่อตั้งจำนวน 85 คน นายกกิ่งกาชาด คือ นางชลิตา พลอยสุภา คู่เสี่ยว คือ คุณประนอม ศุภวิมลพันธุ์ และ คุณวิภาภรณ์ จักรเมธากุล
8 กิ่งกาชาดอำเภอเปือยน้อย : สมาชิกก่อตั้งจำนวน 54 คน นายกกิ่งกาชาด คือ นางสุวณี ศรีหงษ์ คู่เสี่ยว คือ คุณวุฒิกร มโนมัยพิบูลย์ และ คุณโฉมสุดา วโนทยาโรจน์
9 กิ่งกาชาดอำเภอหนองสองห้อง : สมาชิกก่อตั้งจำนวน 121 คน นายกกิ่งกาชาด คือ นายจุมพิชญ์ เดชะรัฐ คู่เสี่ยว คือ คุณธีรรัตน์ ปัณฑรสูตร และ คุณชาญณรงค์ บุริสตระกูล
10 กิ่งกาชาดอำเภอซำสูง : สมาชิกก่อตั้งจำนวน 62 คน นายกกิ่งกาชาด คือ นางมณีรัตน์ พิมพะ คู่เสี่ยว คือ คุณสมศักดิ์ บริสุทธนะกุล และ คุณปกรณ์ ลีศิริกุล
การก่อตั้งกิ่งกาชาด ในแต่อำเภอ จะเป็นการช่วยกระจายจุดช่วยเหลือราษฏร์ ช่วยบรรเทาทุกข์ในเบื้องต้น ตามด้วย ความช่วยเหลือของเหล่ากาชากจังหวัด จากสภากาชาดไทย และจากระดับสากล เมื่อต้องระดมกำลังความช่วยเหลือ
การทำงานของกิ่งกาชาด ขับเคลื่อนด้วยพลังสมาชิกในอำเภอนั้นๆ ล้วนเป็นผู้มีจิตอาสา ออกมาทำงานเพื่อบ้านเกิดของตัวเอง
ขอแสดงความยินดี กับชุมชน ทั้ง 10 อำเภอ ซึ่งมีประชากร รวมกันราว หกแสนคน หรือคิดเป็น 33.75 % ของประชากร 1.8 ล้านคน ของนครขอนแก่น ที่จะมีกิ่งกาชาด มาช่วยงานบรรเทาทุกข์ บำรุงสุข หากช่วยกันทุกแรง จะกลายเป็น พลังอันยิ่งใหญ่และยั่งยืน
ทั้งนี้ กิ่งกาชาด จะต้องรายงานตรงกับเหล่ากาชาดจังหวัด มีระเบียบการเบิกจ่ายงบประมาณ ชัดเจน ตรวจสอบได้ ผู้นำมีความทันสมัย ความซื่อสัตย์ การมีจิตอาสา ทุกคนในชุมชนมีส่วนร่วมในเชิงบวก จะเป็นความยั่งยืนของ ทุกกิ่งกาชาด นับต่อจากนี้ไป…..
###