เลือดดี ไม่มีขาย
15 พฤศจิกายน 61 10:05:02
คอลัมน์ “รู้จริง ถิ่นเฮา”
โดย “น้องดอกคูน”
….เรื่องเล่า อ่านสนุก ซอกมุมของบรรพบุรุษ และมองออกไปเบื้องหน้า ในบริบทของ เศรษฐกิจ สังคม การเมือง เมื่อทุกเรื่องม้วนร้อย เป็นมิติเดียวกัน เหลืองสะพรั่งของดอกคูณ และ เสียงแคน แล่นแต้ มาแล้ว…………. พบเรื่องใหม่ทุกวันอังคาร และวันพฤหัสบดี
^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^
คุณๆ เคยล้มเจ็บ จนเข้าโรงหมอ บ้างไหม ? เคยให้เลือดไหม? และเคยสงสัยไหมว่า เลือดที่เราได้รับนั้น มายังไง ? หาซื้อได้ตามสะดวกซื้อไหม ….เคยได้ยินไหม…รับเลือดสักถุงไหมค๊ะ….
ระบบการทำงานของร่างกายมนุษย์ น่ามหัศจรรย์มาก เปลี่ยนอาหารที่กินเข้าไปในกระเพาะให้เป็นพลังงาน เส้นเลือดเดินหล่อเลี้ยงร่างกาย วิ่งเข้า-วิ่งออก ฟอกเลือดดี หล่อเลี้ยงทุกอวัยวะ ทำงานอย่างสอดรับกัน แต่ยามใดที่อวัยวะชิ้นใดทำงานผิดปกติ อาการร่วนก็อาจเกิดขึ้นได้
เคยสงสัยไหมว่า เรามักจะเห็นคำว่า “บริจาคอวัยวะ” ซึ่งหมายถึง การให้โดยไม่ประสงค์สิ่งใดกลับคืน ไม่เคยพบคำประกาศว่า “ ขายอวัยวะ” เลย ใช่ไหม…..
การขายอวัยวะของร่างกาย หรือขายเลือด ไม่สามารถทำได้ เป็นกฏหมายระดับสากล ที่ยอมรับกันทั่วโลก ว่า “ผิดกฏหมาย” ผิดจรรยาบรรณ ทำไม่ได้ทุกประตู แบบเด็ดขาด
แล้ว “เลือด” ที่ใช้การอยู่ตามโรงพยาบาลล่ะ มาจากไหนกัน ?.....
เมื่อมนุษย์ ยังต้องใช้ชีวิต มีเลือดเนื้อ ยามเจ็บไข้ ยามเกิดอุบัติเหตุ เภทภัย การให้เลือด จึงมีความจำเป็นทางการแพทย์ หน่วยงานเดียวในประเทศไทย (และทั่วโลก) คือ สภากาชาดไทย หรือกาชาดสากล-ทำหน้าที่นี้ เช่นกัน
สภากาชาดไทย เป็นองค์กรที่มีสิทธิ เป็นหน้าที่ ที่จะแสวงหา “เลือด” เพื่อช่วยเหลือมวลมนุษยชาติ และส่งผ่านการทำหน้าที่ รับบริจาคโลหิต ไป ภาคบริการโลหิต และส่งต่อยังโรงพยาบาลรัฐบาล
การทำงานของการบริจาคโลหิตในนครขอนแก่น โดย ภาคบริการโลหิตแห่งชาติที่ 6 สภากาชาดไทย ทำงานร่วมกับโรงพยาบาลแห่งรัฐ อีก 2 แห่ง คือ คลังเลือด โรงพยาบาลขอนแก่น และคลังเลือดกลาง คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
เราจึงเห็นหน่วยรับบริจาคโลหิต ตระเวนไปตามที่ต่างๆ เพื่อรวบรวมโลหิตเก็บเข้าสู่คลังเพื่อใช้งานกระจายไปตามโรงพยาบาลรัฐ-เอกชน
คนเราใช่ว่าทุกคนจะสามารถเป็นผู้บริจาคโลหิตได้นะ เพราะต้องเป็นผู้ที่มีความพร้อมของร่างกาย มีข้อห้ามหลายข้อ แต่สำหรับผู้ที่ร่างกายพร้อม-จิตใจพร้อม เป็นผู้ให้ พวกเขาจึงมีความตั้งใจที่จะบริจาคโลหิตในกายให้กับเพื่อนมนุษย์ เป็นการให้ที่ยิ่งใหญ่ มากเกินคำบรรยายใดๆ
นายสมเดช คันธชุมภู อายุ 62 ปี รับถ้วยเชิดชูเกียรติ จาก ดร.สมศักดิ์ จังตระกุล-ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น ในฐานะผู้สร้างสถิติ การบริจาคโลหิต จำนวนครั้งมากที่สุด คือ 291 ครั้ง
ในนครขอนแก่น มีผู้ที่ทำสถิติบริจาคโลหิต จำนวนครั้งมากที่สุด คือ 291 ครั้ง คือ นายสมเดช คันธชุมภู อายุ 62 ปี เมื่อคำนวนย้อนกลับ ที่ต้องเว้นวรรคทุกสามเดือน ให้ร่างกายผลิตเลือดขึ้นมาทดแทน ทุกๆ 3 เดือน พบว่า เขาเริ่มบริจาคโลหิต ตั้งแต่อายุ ราว 38 ปี
สถิติ การบริจาคโลหิต น่าสนใจข้อมูล แนวคิดของพวกเขา ที่มักจะทำเป็นกิจวัตรทุกๆ 3 เดือน จนพบว่ามีสถิติ ผู้บริจาคมากกว่า 150 ครั้ง ขึ้นไปมากกว่าหลักร้อยคน
เมื่อเข้าใจ เส้นทางของการบริจาคโลหิต หลายท่านสบายใจ หลายท่านให้ความร่วมมือ เป็นทั้งอาสาเป็นผู้บริจาคเอง และช่วยชักชวนเพื่อนๆมาบริจาคเลือด
ว่ากันว่า การบริจาคเลือด ประหนึ่งการมอบชีวิตให้อีกหลายชีวิต สักวัน เราอาจเป็นผู้ ต้องการเลือดเพื่อต่อชีวิต ได้ เช่นกัน…... แต่เลือดดีๆ ไม่มีขาย มีแต่ความดีที่จะนำมาแลกไป……