221 บ้าน ผลิตปุ๋ยอินทรีย์@ขอนแก่น
คอลัมน์ “รู้จริง ถิ่นเฮา”
โดย “น้องดอกคูน”
….เรื่องเล่า อ่านสนุก ซอกมุมของบรรพบุรุษ และมองออกไปเบื้องหน้า ในบริบทของ เศรษฐกิจ สังคม การเมือง เมื่อทุกเรื่องม้วนร้อย เป็นมิติเดียวกัน เหลืองสะพรั่งของดอกคูณ และ เสียงแคน แล่นแต้ มาแล้ว…………. พบเรื่องใหม่ทุกวันอังคาร และวันพฤหัสบดี
^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^
ปัญหาสิ่งแวดล้อม สร้างความปวดหัวให้ประชากรโลก แม้จะคิด..คิด.. ทบทวนว่า เกิดจากน้ำมือของตัวเอง พอมาวันนี้ คิด..คิด..อาจเหมือนลิงแก้แห..ยิ่งแก้ ยิ่งยุ่ง นุงนัง….น้ำเสีย ป่าหมด ขยะล้น สิ่งแวดล้อมเปลี่ยนแปลง จนเป็นพิษ วนกลับมาทำร้ายมนุษย์ซะเอง…
เริ่มจากตัวเองกันก่อนดีไหม… อดีตเปลี่ยนไม่ได้ แต่วันนี้ ทำได้ ทำเพื่อวันพรุ่งนี้ไงล่ะ….
สถิติ เรื่อง “ขยะ” ระดับประเทศพบว่า มีปริมาณขยะจากชุมชนเฉลี่ย ราว 26 ล้านตันต่อปี โดยคำนวณค่าใช้จ่ายในการกำจัดราว 23,332 ล้านบาท
จำแนกค่าใช้จ่าย ในการกำจัดขยะ ราว 102 บาท/ครัวเรือน/เดือน ในขณะที่ประชาชนจ่ายจริง จำนวน 65 บาท/ครัวเรือน/เดือน ส่วนต่าง จึงกลายเป็นภาระของรัฐบาลท้องถิ่น ในแต่ละพื้นที่ เช่น กทม., เทศบาล พบว่า ขยะ 43% ถูกกำจัดแบบถูกต้อง , 31% นำกลับมาใช้ได้ และ อีก 26% พบว่า กำจัดแบบไม่ถูกต้อง-นี่แหละ เป็นการสะสมปัญหาที่เชื่อมต่อ จนมาถึงวันนี้
ข้อสังเกต ของเรื่องนี้ คือ คนไทยไม่ยอมรับผิดชอบการสร้างขยะของตัวเอง มักง่าย ปัดออกหรือทิ้งออกจากตัว เป็นจบ ดูอย่างคนที่ชอบกวาดหน้าบ้านตัวเอง มักจะกวาดไปแม๊ะ…ไว้ข้างบ้าน หรือปล่อยสุนัขไป อึ ไปฉี่ นอกบ้านตัวเอง-แถมไม่ตามเก็บด้วยนะ
ตามไปดูประเภทขยะกันหน่อยปะไร เขามีสถิติระดับประเทศ น่าสนใจ ในจำนวน 100 ส่วน พบว่า 64 ส่วน เป็นขยะอินทรีย์-หมายถึง ขยะที่เน่าเสียและย่อยสลายได้เร็ว สามารถนํามาหมักทําปุ๋ยได้ เช่น เศษผัก เปลือกผลไม้ ใบไม้ เศษอาหาร , 30 ส่วน เป็นขยะที่สามารถนำกลับมาใช้ได้ใหม่ และอีกอย่างละ 3 ส่วน เป็น ขยะเป็นพิษ-ที่ต้องมีกรรมวิธีกำจัดเป็นพิเศษ และขยะที่กลับคืนสู่ธรรมชาติ ได้
เห็นแบบนี้แล้ว กลุ่มผู้หญิงที่เป็นกำลังเสริมของข้าราชการ (ชาย) คือ กลุ่มสมาชิกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย เป็นกลุ่มที่กระจายตัวอยู่ทั่วประเทศตามกำลังพลของข้าราชการในสังกัดกระทรวงมหาดไทย เมื่อมีนโยบายของภาครัฐและผลของเหตุที่เข้ามากระทบกับความเป็นอยู่ของพวกเขา แบบ จะ จะ จึงมีการหยิบเรื่องนี้ขึ้นมาคุยกันแบบจริงจัง หวังผลเพราะเป็นเรื่องใกล้ตัว ใกล้ครัว ทำได้ ง่ายมาก เพียงมีวินัย ใส่ใจ ก็จะมีส่วนช่วยลดปัญหาเรื่องขยะ
แคมเปญของแม่บ้านมหาดไทยขอนแก่น น่าสนใจ นำร่องแบบเห็นๆ จับต้องได้ ยุคนี้ไอที ช่วยวัดใจ วัดผล ประโยชน์ของเทคโนโลยี ที่มุษย์นำมาใช้เชิงบวกมากมาย รวมทั้งเรื่องขยะนี้ด้วย
“แลก-รับ-หมัก ปุ๋ยอินทรีย์” ทำได้ง่ายๆตอบโจทย์ 3 R-Reduce-Reuse-Recycle คือ ให้นำพลาสติก 50 ชิ้น มาแลกถังใบเขื่อง-ที่เจาะก้นถัง พร้อมใช้งาน แจ้งชื่อ-ที่อยู่ เมื่อนำกลับไปที่บ้าน ให้ลงมือขุดหลุม ฝังลงดิน(ตามคำแนะนำ) พร้อมใช้งาน
กรรมวิธี การใช้งานของถังใบนี้ คือ ขุดดิน ขนาดใกล้เคียงกับถัง แล้วฝังลงไป กลบดินไปรอบถัง การใช้งานของถังใบนี้ จะทำหน้าที่คล้ายโรงงานผลิตปุ๋ยอินทรีย์ภายในบ้าน เศษอาหารจากครัว--เดิมที่นิยมใส่ถุงก๊อบแก๊ป แล้วโยนลงถังขยะ ให้ไปปนเปื้อน บูดเน่ากับขยะประเภทอื่น ให้คัดแยกจากห้องครัวบ้านเราซะเลย นำมาเทลงถังใบที่แลก-รับ ไปนั่นแหละ ใส่ใบไม้แห้งลงไปบ้าง โรยดินลงไปบ้าง เพื่อเป็นเชื้อหมัก หรืออาจมีสูตรเติมน้ำอีเอ็ม เพื่อให้ขบวนการทำงานของจุลินทรีย์ และลดกลิ่น ปิดฝาถังให้เรียบร้อย เมื่อขยะเปียกจากครัว เต็มระดับผิวดิน หรือใกล้เต็ม ก็ให้ยกถังขึ้น—ไม่มีก้นถัง ยกง่าย จากนั้นกลบดิน ให้บ่อขยะเปียกนั้นย่อยสลายกลายเป็นปุ๋ยบำรุงดินตามธรรมชาติ จากนั้นแล้วย้ายจุด ขุดใหม่ ด้วยกรรมวิธีเดียวกัน เราจะมีปู่ยอินทรียร์เป็นจุดๆ กระจายไปทั่วบริเวณบ้าน….นี่แหละ โรงงานผลิตปุ๋ยอินทรีย์ภายในบ้าน
อย่าลืม…ถ่ายรูปขณะขุด เมื่อเสร็จแล้ว ให้แชร์โลเคชั่น กลับมายังคุณเอ-ดลิกา อันจะเป็นการบอกเพื่อนๆที่เข้าร่วมแคมเปญนี้ด้วยกันว่า ถังใบที่เท่าไหร่ อยู่ที่บ้านเรา จะได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ร่วมเป็นเครือข่าย มีกิจกรรมอื่นๆ ต่อเนื่องร่วมกันได้ในอนาคต
แคมเปญของแม่บ้านมหาดไทยขอนแก่น ครั้งนี้ ดูน่าสนุก เขาเตรียมถังไว้จำนวน 221 ใบ จึงต้องการ คนต้นแบบนำร่องเพียง 221 คน หรือ 221 บ้าน หลังจากนั้น หน่วยงานใด อำเภอใด จะนำไปต่อยอด ขับเคลื่อนต่อ เชิญตามสะดวก ไม่สงวนลิขสิทธิ์ ยิ่งมาก ยิ่งดีกับบ้านเฮา เด้อ….
ขอเชิญ คุณ ๆ ที่เป็นแฟนคลับ ของ “น้องดอกคูน” เข้าร่วมเป็นหนึ่งในคนต้นแบบ ใครมาก่อนแลกก่อน จบลงที่ ลำดับที่ 221 คิดดี ทำดี ลงมือทำกันเลย รอช้าอยู่ใย…ทุกสิ่ง เริ่มได้ที่ตัวเราเอง…
บันทึกช่วยจำ : ขอขอบคุณ สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดขอนแก่น และ เทศบาลขอนแก่น ที่ร่วมผนึกกำลัง “เรื่องใหญ่” ย่อมเป็น “เรื่องเล็ก” ในบัดดล
ชวนมาเป็น 1 ใน 221 คนต้นแบบ กับแคมเปญของแม่บ้านมหาดไทยขอนแก่น
ถังทุกใบ มี ระหัสเบอร์กำกับ เท่ากับ มี โรงงานผลิตปุ๋ยอินทรีย์ ในบ้าน จำนวน 221 แห่ง
เมื่อแชร์ Location จะปรากฏ ว่า ถังเลขใด อยู่ที่บ้านคนต้นแบบ บ้านไหน
ลงมือทำไม่ยาก ขุด-ฝัง-กลบ-ถ่ายรูป-แชร์โลเคชั่น
(ตัวอย่าง) ขวดพลาสติก ทุกขนาด 50 ใบ แลก ถัง นำไปผลิตปุ๋ยอินทรีย์ในบ้าน ฟรี…1 ใบ