มมท.ขก. เยือน มมท.ชบ. : ตอน --Eco Lady ซีรี่ย์ 2/4
คอลัมน์ “รู้จริง ถิ่นเฮา”
โดย “น้องดอกคูน”
….เรื่องเล่า อ่านสนุก ซอกมุมของบรรพบุรุษ และมองออกไปเบื้องหน้า ในบริบทของ เศรษฐกิจ สังคม การเมือง เมื่อทุกเรื่องม้วนร้อย เป็นมิติเดียวกัน เหลืองสะพรั่งของดอกคูณ และ เสียงแคน แล่นแต้ มาแล้ว…………. พบเรื่องใหม่ทุกวันอังคาร และวันพฤหัสบดี
^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^
จากนี้ไป นับนิ้วเป็น เรื่องเล่า ขนาด 4 ตอน ที่จะขอนำผู้อ่าน แฟนคลับทุกท่าน จูงมือไปเที่ยวด้วยกัน กับ กลุ่มสมาชิกแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดขอนแก่น ที่เดินทางไปศึกษาดูงาน เยี่ยมเยือนสมาชิกแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดชลบุรี ตั้งชื่อกิจกรรม แบบฟังแล้วต้องอมยิ้ม “…จากปลาร้า…ถึง ปลาทะเล….”
บางจุด บางกลุ่ม บางชุมชน น่าสนใจ จึงขอนำมาฝาก ชาวนครขอนแก่น และชาวโลก ให้รับทราบกันทั่วกัน อ่านมาก รู้มาก ประสบการณ์ตรงจะช่วยให้ เข้าถึง เข้าใจ นำมาประยุกต์ใช้ หมายถึง ปรับให้เข้ากับสังคม ชุมชน ของตัวเอง เพราะเรื่องเดียวกัน อาจไม่สามารถใช้กับคน ทุกคน ทุกกลุ่มได้ แต่ที่สำคัญ ทุกคนเดินไปยังเป้าหมาย ต่างวิธีการ แต่ …แตะเส้นชัยของตัวเองได้เหมือนๆกัน
บ้านเฮา…ไม่มีทะเล… ไปเที่ยวทะเลด้วยกัน สักครั้ง เที่ยวทั่วไทย ไทยเท่….
Eco Lady
สิ่งแวดล้อม หรือระบบนิเวศน์ ที่เป็นของเหลือใช้ เป็นขยะ ยากต่อการกำจัด หรืออาจกลายเป็นมลพิษย้อนกลับมาทำลายล้างมนุษย์ เหล่านี้ จึงกลายมาเป็นโอกาสทางธุรกิจ ให้กับคนอีกกลุ่ม เข้าข่าย มีวิกฤต มักมีโอกาสเสมอ
จังหวัดชลบุรี รับรู้กันว่า เป็นพื้นที่ตั้งของโรงงานอุตสาหกรรมนับร้อย นับพันแห่ง ด้วยความเหมาะสมของการใกล้ท่าเรือ พร้อมนำส่งสินค้า ไปทางทะเล เดินทางไปยังประเทศต่างๆทั่วโลก
จากยุคโชติช่วงชัชวาล ผลิตเพื่อทดแทนการนำเข้า และขยับมาผลิตเพื่อการส่งออก ชัยภูมิการก่อตั้งโรงงาน จึงมีพื้นที่ที่เหมาะสมบริเวณจังหวัดที่ติดชายฝั่งทะเล อย่าง ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด เป็นต้น และพบต่อไปอีกว่า บางจุดที่ทำเลของการเหมาะที่จะสร้างเป็นท่าเรือน้ำลึก เทียบท่าเรือขนส่งสินค้า ขนาดใหญ่ได้อีกด้วย อาทิ ท่าเรือแหลมฉบัง ซึ่งปัจจุบัน รัฐบาลต่อยอดกลายเป็นพื้นที่พัฒนา ตาม โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ Eastern Economic Corridor-EEC ตามข่าวที่เราพบเห็นกันทั่วไป อยู่แล้ว
เมื่อมีโรงงานอุตสาหกรรม มาก สิ่งที่ตามมาคือ “ขยะอุตสาหกรรม” ซึ่งต้องมีกระบวนการกำจัด อย่างถูกต้อง ป้องกันการย้อนรอยกลับมาเป็นพิษภัยกับมนุษย์
ปี 2555 คุณกุ้ง-ชดาทิพย์ ณ ตะกั่วป่า ประธานกลุ่มสตรีอาสาพัฒนา เทศบาลนครเจ้าพระยาสุรศักดิ์ ตำบลหนองขาม อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี เธอเล่า แบบสไตล์ธรรมชาติว่า เมื่อรอบๆบ้าน มีโรงงานอุตสาหกรรม-ไม่มีนาข้าว จึงขอพลิกมองหาโอกาส พบว่า เศษด้าย เศษพรม และอีกหลายๆอย่าง น่าจะนำมาใช้ประโยชน์ อื่นใด ได้อีก
เมื่อความคิดตกผลึก การเริ่มต้นอาจไม่ง่าย แต่ใจเกินร้อย ย่อมไม่ท้อ เศษพรม ถูกนำมาออกแบบ แปรรูปเป็น “รองเท้าแตะ” แบบเก๋ๆ และออกตระเวนไปกวักมือชวนกลุ่มแม่บ้าน ที่เคยมีประสบการณ์ในโรงงานด้านการตัดเย็บ รับงานไปทำที่บ้าน โดยยังสามารถดูแลครอบครัวได้ในเวลาเดียวกัน
ตามด้วยแผนงานการตลาด ที่พาสินค้าไปสร้างแบรนด์ ด้วยเส้นทางของทางการ อาทิ การส่งผลิตภัณฑ์เข้าประกวด เกาะติดกระแส “รักษ์โลก” ของชาวโลก ด้วยวลีเก๋ อย่าง Eco For Life ,ขยะสร้างสรรค์ นำคุณค่าสู่ชุมชน ได้รับรางวัลชนะเลิศ อันดับสอง ผลิตภัณฑ์ประเภทกลุ่ม 3R-Reuse-Reduce-Recycle ผลิตภัณฑ์ รองเท้าแตะ จึงมียอดขายที่เติบโตขึ้นเป็นลำดับ และมีสินค้าเพิ่มขึ้น ด้วยไหมพรม-ฝีมือการถักมือ คือ “หมีน้อย” แน่นอนว่า เป็นเศษไหมพรม จากโรงงานอุตสาหกรรม
ภายในกลุ่ม สมาชิกราว 300 คน มีการแบ่งงานกันทำ อย่างเป็นระบบ ช่างเย็บ ช่างตัด มีการบันทึก รายรับ-รายจ่าย และจัดการด้านต้นทุนไว้อย่างมีระบบ เช่น ค่าแรง ค่าฝากขาย เก็บเข้ากลุ่ม วัตถุดิบ ปันผล และทำกิจกรรมเพื่อส่วนรวม
ปัจจุบัน จดทะเบียน เป็น “วิสาหกิจชุมชนหัตถกรรมรักษ์โลก” หรือมีชื่อเล่น เรียกกันว่า Eco Lady กลายเป็นจุดศึกษาดูงาน ของอีกหลายคณะ ที่ช่วยสร้างแรงบันดาลใจ ให้อีกหลายกลุ่ม หลายคน…. ผู้หญิงสร้างโลก…ผู้หญิงรักษ์โลก….พวกเธอน่ารัก อ่อนหวาน เข้มแข็ง อดทน การเชื่อมเครือข่าย ย่อมเกิดพลังพัฒนาบ้านเมืองได้แบบหญิง หญิง นี่แหละ….….….
คุณกุ้ง-ชดาทิพย์ ณ ตะกั่วป่า ประธานกลุ่มสตรีอาสาพัฒนา ที่เข้าถึง-เข้าใจ ได้ไม่ยาก