มมท.ขก. เยือน มมท.ชบ. : ตอน---หางเครื่อง ซีรี่ย์ 3/4
คอลัมน์ “รู้จริง ถิ่นเฮา”
โดย “น้องดอกคูน”
….เรื่องเล่า อ่านสนุก ซอกมุมของบรรพบุรุษ และมองออกไปเบื้องหน้า ในบริบทของ เศรษฐกิจ สังคม การเมือง เมื่อทุกเรื่องม้วนร้อย เป็นมิติเดียวกัน เหลืองสะพรั่งของดอกคูณ และ เสียงแคน แล่นแต้ มาแล้ว…………. พบเรื่องใหม่ทุกวันอังคาร และวันพฤหัสบดี
^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^
จากนี้ไป นับนิ้วเป็น เรื่องเล่า ขนาด 4 ตอน ที่จะขอนำผู้อ่าน แฟนคลับทุกท่าน จูงมือไปเที่ยวด้วยกัน กับ กลุ่มสมาชิกแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดขอนแก่น ที่เดินทางไปศึกษาดูงาน เยี่ยมเยือนสมาชิกแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดชลบุรี ตั้งชื่อกิจกรรม แบบฟังแล้วต้องอมยิ้ม “…จากปลาร้า…ถึง ปลาทะเล….”
บางจุด บางกลุ่ม บางชุมชน น่าสนใจ จึงขอนำมาฝาก ชาวนครขอนแก่น และชาวโลก ให้รับทราบกันทั่วกัน อ่านมาก รู้มาก ประสบการณ์ตรงจะช่วยให้ เข้าถึง เข้าใจ นำมาประยุกต์ใช้ หมายถึง ปรับให้เข้ากับสังคม ชุมชน ของตัวเอง เพราะเรื่องเดียวกัน อาจไม่สามารถใช้กับคน ทุกคน ทุกกลุ่มได้ แต่ที่สำคัญ ทุกคนเดินไปยังเป้าหมาย ต่างวิธีการ แต่ …แตะเส้นชัยของตัวเองได้เหมือนๆกัน
บ้านเฮา…ไม่มีทะเล… ไปเที่ยวทะเลด้วยกัน สักครั้ง เที่ยวทั่วไทย ไทยเท่….
หางเครื่อง
คุณๆนึกถึง “หางเครื่อง” คิดถึงอะไร กันล่ะ… ยุคนี้ น่าจะเรียกว่า “แดนเซอร์” ซึ่งหากมองลงลึกศึกษาความเป็นมาของตำนาน เป็นการประยุกต์มาจาก “หางเครื่อง” ในอดีต เรื่องราวน่าสนใจ เมื่อ เรื่องนี้ เกิดตำนานหางเครื่องขึ้นที่ ชุมชนบางเสร่ อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี
แค่คิด…ก็สนุกล่ะ นะ…
พื้นที่ชลบุรี ย่านทะเล ย่อมเป็นที่มี “ทหารเรือ” เป็นเจ้าของพื้นที่ “เฮฮานาวี” เรื่องสนุกๆของทหารเรือมาแย้ววว… เป็นพ็อกเก็ตอ่านสนุก หลายเล่ม โดยนายทหารเรืออารมณ์ดีหลายคน แฟนคลับประทับใจ ไม่รู้ลืม….
ตำนานของ “หางเครื่อง” เกิดขึ้นในรั้ว “ลูกประดู่ ” นี่แหละ… วงดนตรีที่ใช้ขับกล่อม สร้างบรรยากาศดีๆ ให้กำลังพล ในยามพักผ่อน สันทนาการ ย่อมต้องการความคึกคัก จังหวะสนุกสนาน เสียงดนตรี เสียงหัวเราะ ย่อมนำมาซึ่งความสุข
คุณวราลี จันทร์จวง ประธานชมรมอนุรักษ์วัฒนธรรมหางเครื่อง เล่าว่า การเริ่มต้นของตำนานหางเครื่อง เกิดขึ้น เมื่อ ท่านผู้บัญชาการทหารเรือ ในขณะนั้น คือ พลเรือเอกสงัด ชลออยู่ (ถึงแก่อนิจกรรม เมื่อปี 2523) ท่านอยากให้มี สาวๆ ไปเต้นตามจังหวะของวงดนตรีทหารเรือ วันนั้นจึงเป็นการเปิดตำนานของหางเครื่องแห่งบ้านบางเสร่
ต่อมาจึงได้รับความนิยม ฝึกฝนเด็กสาวๆ ให้เป็น นักเต้นอาชีพที่เต้นประกอบจังหวะการแสดงเพลงลูกทุ่ง มีการหลายวง รับงาน สร้างรายได้ เป็นอาชีพสุจริต ที่เคยทำรายได้สูงสุดมากถึง วันละ 40,000.- บาท ต่อวัน เมื่อราว เกือบสามสิบปีก่อน ย่อมไม่ธรรมดา จึงเป็นยุครุ่งเรืองของหางเครื่อง โดยแบ่งงานออกเป็น 3 ประเภท คือ เวทีรื่นเริง, การเดินแห่ และ เวทีประกวด
แม่ครูไพลิน บุญอินทร์ หนึ่งในทีมสาวหางเครื่อง เล่าว่า ยุคของเธอ เต้นหางเครื่องเมื่ออายุ 17 เอว 22 จนมาวันนี้ วัย 62 จึงผันตัวเองมาเป็นครูสอน ให้เด็กคนรุ่นใหม่ เพราะไม่อยากให้หางเครื่องสูญหายไป ตามวัยและกาลเวลาของพวกเธอ และมีกำลังเสริมจากหน่วยงานของรัฐ เข้ามาสนับสนุน ขอเป็นกำลังใจให้ถ่ายทอดวิชาให้เด็กๆ มีพื้นฐานที่ถูกต้อง ทำงานเป็นทีม จึงจะสวยงาม สมมืออาชีพ มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี สร้างความสุข ความบันเทิง ไม่ใช่การเต้น ว่อมๆแว่บๆ
“วราภรณ์ บัวผา” นักศึกษาปริญญาโท คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เคยทำงานวิจัย เรื่องหางเครื่องของชุมชนบางเสร่ นี้ไว้ เมื่อปี 2544 ข้อมูลวิจัยเชิงลึก ทำให้มีข้อสรุป ของงานวิจัยชิ้นนี้ ว่า สมควรที่จะอนุรักษ์ให้เป็นศิลปะพื้นบ้าน อยู่คู่กับชุมชนบางเสร่ สืบต่อๆไป
การนี้ จึงเป็นที่มาของ “ชมรมอนุรักษ์วัฒนธรรมหางเครื่อง” สมาชิกมีความสุข เมื่อได้ต้อนรับแขกผู้มาเยือน เสียงดนตรี จังหวะสนุกๆ ย่อมนำมาซึ่งความสุข ของคนทุกยุค ทุกสมัย เป็นความสุขผ่านตัวโน้ต และจังหวะก้าวเดินของ “หางเครื่อง” ทุกนาง ที่สมควรอนุรักษ์ ให้ถูกต้อง ไม่หลงทิศ ผิดทาง กลายเป็น “สินค้าทางเพศ” ให้กลายเป็นปัญหาสังคม
คุณๆ นึกถึง “หางเครื่อง” คิดถึงอะไร กันล่ะ…
คุณวราลี จันทร์จวง ประธานชมรมอนุรักษ์วัฒนธรรมหางเครื่อง แห่งชุมชนบางเสร่ อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี ท่านประธาน ผู้ยืนต้น เข้มแข็ง กับงานการอนุรักษ์ ที่เป็นเส้นบางๆ ของยุคนี้
“หางเครื่อง“ ของแท้ ต้องใส่กระโปรงบาน ตำนานที่บางเสร่ เสน่ห์ ที่ยังน่าค้นหา….
ผู้ชมมีความสุข รอยยิ้ม เสียงปรบมือ คือ กำลังใจ…
อาชีพสุจริต มืออาชีพ ไม่ต่างกับอาชีพอื่นๆ ตำนาน ยังไม่ปิด… เมื่อมีการอนุรักษ์