วันเดียว เที่ยวห้าฟาร์ม - รอบเมืองขอนแก่น
คอลัมน์ “รู้จริง ถิ่นเฮา”
โดย “น้องดอกคูน”
….เรื่องเล่า อ่านสนุก ซอกมุมของบรรพบุรุษ และมองออกไปเบื้องหน้า ในบริบทของ เศรษฐกิจ สังคม การเมือง เมื่อทุกเรื่องม้วนร้อย เป็นมิติเดียวกัน เหลืองสะพรั่งของดอกคูณ และ เสียงแคน แล่นแต้ มาแล้ว…………. พบเรื่องใหม่ทุกวันอังคาร และวันพฤหัสบดี
^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^
ชีวิตดี๊ดี… มนุษย์ผู้เคยแสวงหาความสุข สะดวก สบาย มาปรนเปรอตัวเอง ตามโลภะของตนเอง และกลายเป็นปัจจัยหลักที่มีส่วนในการทำลายสิ่งแวดล้อม แล้วย้อนกลับมาทำร้ายตัวเองในเวลาต่อมา เมื่อพวกเขาค้นพบสาเหตุ จึงมีการปรับตัว กลับมาสู่ดิน สู่ธรรมชาติ เมื่อรู้ว่าเป็นสิ่งดีที่สะท้อนกลับมาหาตัวเองและครอบครัว
เรื่อง ของกิน การกิน การอยู่ สำคัญ เพราะเป็นปัจจัยในการดำรงชีพ เราต้องกินวันละสามมื้อ กินอะไรก็ได้อย่างนั้น กินของมีพิษ ก็ได้รับของพิษ กินของดี ก็ดีกับสุขภาพ ง่ายๆ แค่นี้แหละ
การแสวงหา การปรับตัว จึงเสมือนกันเริ่มต้นทำสิ่งใหม่ๆ ซึ่งอาจไม่ง่ายนักที่ต้องฝืน กิจวัตร ที่เคยๆทำมาตลอด เกือบทั้งชีวิต
ชาวนครขอนแก่น ตื่นตัวกันไม่น้อย เมื่อสมาชิกในครอบครัวพบเจอด้วยตัวเอง ทางออก การป้องกันแก้ไข จึงถูกหยิบขึ้นมาพิจารณา และใช้ทรัพย์สิน สินในดิน มาทำงาน แม้จะต้องเจอเปลวแดด ลม ฝน พวกเขาก็เริ่มเข้าใจชีวิตของเกษตรกร รากเหง้าของบรรพบุรุษ เมื่อมีการศึกษา มีโอกาสทางสังคม จึงไม่ยากที่จะกลับมาทำนุ บำรุง พลิกผืนดินให้มีคุณค่าสำหรับสุขภาพดีๆ และสร้างมูลค่าเชิงเศรษฐกิจได้ ในเวลาเดียวกัน
กิจกรรมแรกของ ชมรม 1 Day Trip in KKC ที่จัดขึ้นให้กับสมาชิก ถูกออกแบบให้เหมาะกับวัย (เพราะส่วนใหญ่เป็น สว.=สวยสมวัย) คือ การไปเยี่ยมชม ฟาร์มออแกนนิคส์ ทั้ง 5 แห่ง โดยรอบๆตัวเมืองขอนแก่น
พบว่า การทำฟาร์ม ในลักษณะนี้ จะลงมือทำได้ มักจะเกิดจาก…
1. เจ้าของฟาร์ม เป็นผู้ลงมือทำด้วยตัวเอง มีใจรัก มุ่งมั่น ตั้งใจ ใฝ่ศึกษาหาความรู้ มีการวางแผนงาน และมักเป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีความรู้ การทำงานจึงมีความเป็นมืออาชีพเจืออยู่ในผลผลิต
2. เจ้าของฟาร์ม มักทำอาชีพอื่นๆ มาก่อน จึงมีการสะสมประสบการณ์ มีกลุ่มก้อนของมิตรสหาย เป็นเครือข่าย ในการทำงาน หนุนใจ กันและกัน
3. เจ้าของฟาร์ม ส่วนใหญ่ จะมีที่ดินเป็นของตัวเอง อาจเป็นการซื้อในยุคของตน หรืออาจเป็นมรดกจากครอบครัว เป็นการลดภาระเรื่องต้นทุนที่ดิน ไม่มีค่าเช่า
สามปัจจัยหลัก จึงทำให้การคิด การลงมือทำ ลองผิด ลองถูกแบบไม่ต้องมีภาระด้านการเงินมากนัก และพวกเขามักจะสุขใจ ทุกครั้งที่มีมิตรสหายไปเยือนยาม เช็คอิน โพสต์ถ่ายรูปกันอย่างสนุกสนาน….
ทริปแรก ของการจัดกิจกรรมของ ชมรม 1 Day Trip in KKC ตั้งชื่อไว้ น่ารัก น่ากิน…ตอน ตะลุย ท่องเที่ยวเชิงเกษตร วันเดียว เที่ยวห้าฟาร์ม คึกคักกันมาก นัยว่าคิดถึงกัน ด้วยว่าห่างหายกันมาแล้วนานกว่า 6 เดือน สมาชิก 80 คน เดินทางด้วยรถบัส ร้องรำทำเพลงกันไปตลอดทาง จึงขอเล่าเรื่องด้วยภาพ ให้หลายคนได้ ตาร้อนผะผ่าว….
การทำงาน “จิตอาสา” ทำได้ไม่ยาก เพียงคิด เพียงลงมือ ผลตอบแทน คือ น้ำใจ ความสุข และเสียงหัวเราะ……
ฟาร์ม 1 : สลัดจันทร์ดาว : คุณพีรพรรณ จันทร์ดา และ คุณมนตรี ทะนารี สองสามีภรรยา ที่มุ่งหน้ากลับบ้านเกิด ใช้ประโยชน์จากที่ดินของบิดา 6 ไร่ ปลูกพืชหมุนเวียน โตเร็ว อย่าง ข้าวโพดฮอกไกโด,สลัด,คะน้า,มะเขือเทศ และอื่นๆ กับเวลา 8 ปี ของการทำเกษตรอินทรีย์ เธอเล่าว่า คุ้มค่ามาก กับใจที่เกินร้อย และความสุขที่ได้รับ วันนี้..เธอมีเครือข่ายคนปลูกผักอินทรีย์ อยู่ทั่วประเทศ
ฟาร์ม 2: ไร่รักออแกนนิค : รศ.ดร.สมจิตร และคุณงามนิจ อาจอินทร์ นักวิชาการหนุ่ม ด้านคอมพิวเตอร์ ที่มุ่งแสวงหาความรู้เกษตรอินทรีย์ จนแตกฉาน จากประสบการณ์ตรงของความเจ็บป่วย ที่ดินของครอบครัว 10 ไร่ จึงแบ่งเป็น 3 ส่วน ตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 คือ ต้นไม้ใหญ่, ผักโตเร็ว และสระน้ำ การปลูกกล้วย เป็นแนว เพื่อช่วยป้องกัน หากฟาร์มใกล้เคียง ไม่ใช่ฟาร์มออแกนนิค ….กล้วยทั้งเครือ มีตาข่ายห่อไว้ ป้องกันกระรอก มาฉกไปกิน
พืช “พระเอก” ของฟาร์มนี้ คือ ผักเคล-สุดยอดผัก เป็นสมุนไพรชั้นยอด และ Butter Nut-ฟักทองหน้าตาแปลก—จับใส่กระทะ ผัดไข่ หวานกรอบ ลดแคเลสตอรอลในเลือด
ฟาร์ม 3 : พันธวาฟาร์ม : คุณวิรุฬวรรณ พันธวาศิษฐ์ และครอบครัว ปรับปรุงที่ดินมรดก กว่า 217 ไร่ ส่วนหนึ่งเป็นค่ายลูกเสือ อีกส่วนเป็นการปลูก พืชพระเอกของไร่ คือ “เมล่อน” หวานกรอบ
ฟาร์ม 4: ฟาร์มบ้านนอก :คุณปริญญา และคุณนลิน อ่องสมบัติ ตั้งใจที่จะให้พื้นที่ดินของครอบครัว เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม จัดเป็นศูนย์รู้ ให้กับเด็กๆ
ฟาร์ม 5: สีอิฐฟาร์ม คุณวิษณุ ชนไฮและคุณณัชพร พัฒนเพ็ญ สองสามีภรรยา ที่อยากกินผักที่ปลูกเอง จนมั่นใจว่าอยากแบ่งปันให้ผู้บริโภค ทุกคน
กรรมการชมรม 1 Day Trip in KKC พวกเธอเข้มแข็งในงานบริการสมาชิก ด้วยจิตอาสา สนุกและมีความสุข ไปด้วยกัน