เล่าเรื่องกัญชา@ขอนแก่น
6 สิงหาคม 62 11:23:40
คอลัมน์ “รู้จริง ถิ่นเฮา”
โดย “น้องดอกคูน”
….เรื่องเล่า อ่านสนุก ซอกมุมของบรรพบุรุษ และมองออกไปเบื้องหน้า ในบริบทของ เศรษฐกิจ สังคม การเมือง เมื่อทุกเรื่องม้วนร้อย เป็นมิติเดียวกัน เหลืองสะพรั่งของดอกคูณ และ เสียงแคน แล่นแต้ มาแล้ว………….
^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^
“กัญชา” พืชใบสีเขียว ที่ดูว่าจะเป็น “ความหวัง” ของการรักษานานาโรค ของมนุษย์ในยุคดิจิตัล อาจเร็วไปที่จะมีข้อสรุป วันนี้จึงต้องมีการตกผลึก เรื่องความรู้ ความเข้าใจ อีกหลายมิติ
บุคคลากรของกระทรวงสาธารณสุข มาประชุมประจำปี ที่นครขอนแก่น เมื่อ 30-31 กรกฏาคม-1 สิงหาคม 2562 ที่ผ่านมา มากันทั้งกระทรวง ย่อมต้องเป็นการเปิดวงสนทนา ที่มีเรื่องใหม่ๆ หยิบมาคุยกัน รวมทั้ง “กัญชา” พืชยอดฮิต ติดอยู่ในทุกวงสนทนาของสังคมอยู่ด้วย อินเทรนด์ แบบนี้ ขอนำเกร็ดเล็กๆ มาเล่าสู่กันฟังนะ
เวทีเสวนา ในวันนั้น มีอธิบดีหลายกรม สังกัดกระทรวงสาธารณสุข ที่เกี่ยวข้อง ก้าวขึ้นเวที มาเล่าทั้งเบื้องหลังที่มา และก้าวต่อไปกับภารกิจของพวกเขา
วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2562 สดร้อนมาก เมื่อมีมติคณะรัฐมนตรี เรื่อง อนุญาตการบริโภค กัญชา นับเป็นต้นเรื่อง ที่จะต้องมีการทำงานเป็นลูกระนาด ตามต่อออกมาอีกเป็นพวง หลายเรื่อง อาทิ กฏหมายที่เกี่ยวข้องไม่น้อยกว่า 10 ฉบับ
กฏหมายบัญญัติว่า “กัญชา” เป็นสารเสพติด จึงไม่อนุญาตให้เสพ เมื่อมีต้นเรื่อง จึงต้องมีคำว่า “นิรโทษกรรม” ตามมา หมายความว่า เสพได้ไม่ผิดกฏหมาย โดยอนุญาต ใช้เพื่อทางการแพทย์และงานวิจัยทางการแพทย์เท่านั้น
“กัญชา” หรือ Cannabis เป็นพืชที่ควรปลูกในโรงเรือน มีการบำรุงดูแล ระยะเพาะเมล็ด 15-30 วัน แตกใบ เติบโต 30 วัน และออกดอก ใน 60 วัน ไม่ควรฉีดยาฆ่าแมลง ไม่มีสารตกค้าง ที่สำคัญต้องมีการสกัดอย่างถูกวิธี จึงจะนำสารที่มีอยู่ตามธรรมชาติของพืชชนิดนี้มาใช้ประโยชน์ได้ ซึ่งพิจารณาควบคู่ไปกับ อาการแพ้-ไม่แพ้ ของผู้นำไปใช้ด้วย อย่างระมัดระวัง เพราะอาการของแต่ละคน อาจแตกต่างกันไป ตามชาติภูมิของร่างกาย
ปัจจุบัน กระทรวงสาธารณสุข มีการออกใบรับรอง ยาตำรับแพทย์แผนไทย จำนวน 16 ตำรับ เท่านั้น ผู้ใช้จึงต้องสอบเช็ค ให้ชัดเจนก่อน และต้องระวังเรื่องการแพ้ หรืออาการข้างเคียงด้วยเช่นกัน
ระยะการทดลอง ทดสอบ มีเส้นทางคล้ายกับการวิจัยยา สูตรใหม่ๆ ในห้องแลป ของบริษัทเอกชน ผู้ผลิตยา ที่จำเป็นต้องใช้เวลาไม่น้อยที่จะต้องทดลองซ้ำๆ จนมั่นใจ แน่ใจว่า ผลของยา มีฤทธิ์ ตามสรรพคุณที่คาดหวังไว้ รวมทั้งอาจต้องผ่านห้องทดลอง วินิจฉัยผลจากสัตว์ทดลอง เช่น หนูขาวตัวน้อยที่เราเห็นกันในห้องทำงานของนักวิจัย
การใช้ “กัญชา” ในการรักษาโรค ยังต้องใช้คำว่า “คลีนิคให้คำปรึกษา” ยังไม่สามารถจ่ายยาได้ตามปกติ เหมือนยาประเภทอื่นๆ
ผู้ป่วยโรคภัยที่คุกคาม จึงกลายเป็นกระแสสังคม โหมให้ “กัญชา” เป็นเรื่องฮอต ร้อนฉ่า หมายจะขับเคลื่อนให้ไว แต่ในความเป็นจริง อาจต้องรอบคอบ ถ้วนถี่ เหรียญมีสองหน้า “ความจริง” และ “ความหวัง” จึงต้องขยับเข้ามาใกล้กัน บางจังหวะต้องรอ บางจังหวะต้องเร่ง
ช้าๆ ได้พร้าเล่มงาม……หรือ กว่าถั่วจะสุก งาก็ไหม้ คำโบราณ ที่เตือนใจ ให้พวกเราต้องตั้งสติ ไม่เคยล้าสมัย พืชต้นเขียว-กัญชา ก็เช่นกัน………
สัมนาวิชาการประจำปี 2562 ของกระทรวงสาธารณสุข ใช้ธีมว่า Meta R2R หมายถึง R= Routine และ R=Research
วิทยากร ระดับเบอร์หนึ่งของกรม ที่เกี่ยวข้องกับ “กัญชา” มาเล่าสู่กันฟัง
R 2 R ปรับวิธีคิด เปลี่ยนวิธีทำ “พัฒนางานประจำ สู่งานวิจัย”
กัญชา พืชที่ต้องมีการดูแลตั้งแต่ต้นทาง เพื่อการสกัดสารที่เป็นประโยชน์ต่อมนุษย์