ปล่อยลูกกุ้ง-ลูกปลา @ขอนแก่น
23 กันยายน 62 23:25:16
คอลัมน์ “รู้จริง ถิ่นเฮา”
โดย “น้องดอกคูน”
….เรื่องเล่า อ่านสนุก ซอกมุมของบรรพบุรุษ และมองออกไปเบื้องหน้า ในบริบทของ เศรษฐกิจ สังคม การเมือง เมื่อทุกเรื่องม้วนร้อย เป็นมิติเดียวกัน เหลืองสะพรั่งของดอกคูณ และ เสียงแคน แล่นแต้ มาแล้ว………….
^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^
“ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว” เมืองไทยอุดมสมบูรณ์ แม้จะไม่เหมือนวันก่อนเก่า แต่ยังเป็นเบอร์ต้นๆ ระดับโลก ของประเทศน่าอยู่ น่ารัก น่าเที่ยว
นครขอนแก่น บ้านเฮา มีเขื่อนอุบลรัตน์ –เขื่อนตัวแม่ ของอีก 7 เขื่อนในภาคอีสาน ที่สามารถควบคุมการผลิตไฟฟ้าได้อย่างอยู่มือ จากการกดปุ่ม แบบรีโมทคอนโทรล ทันสมัย แม้จะสร้างมาแล้ว เมื่อ 55 ปี ก่อน (ก่อสร้างปี 2507-เปิดทำการ ปี 2509) เป็นเขื่อนลำดับที่สอง ของประเทศไทย ต่อจากเขื่อนภูมิพล จังหวัดตาก
วัตถุประสงค์หลัก คือ เพื่อ การชลประทาน ให้ราษฏร มีน้ำหล่อเลี้ยง พืชผัก นาข้าว ส่วนอ่างเก็บน้ำขนาดมหึมา ของบริเวณพื้นที่เหนือเขื่อน ที่เรียกกันอย่างไม่เป็นทางการว่า “พองหนีบ”
คือ มีลักษณะ เป็นช่องระหว่างภูเขา ทรงแคบสอบเข้าหากัน ชัยภูมิเหมาะ เหมือนกรวยน้ำ แรงน้ำที่ไหลจากที่สูง ลงหาที่ต่ำ จึงเป็นการปั่นเทอร์ไบค์ ผลิตกระแสไฟฟ้า ที่ลงตัวโดยธรรมชาติจัดวาง
ผลข้างเคียง เชิงบวก นอกเหนือจากวัตถุประสงค์หลักแล้วนั้น คือ การประมงของชาวบ้านในแถบโดยรอบอ่างเก็บน้ำ สัตว์น้ำ เติบโต กลายเป็นแหล่งอาหาร ให้ชุมชน โดยรอบ มีอาชีพ การประมง จับปลา ตกกุ้ง รายได้เป็นกอบ เป็นกำ
วันที่ 21 กันยายน ของทุกปี รัฐบาลกำหนดให้เป็น “วันประมงแห่งชาติ” ตั้งแต่ครั้ง เมื่อปี 2535 เป็นต้นมา ในยุคของ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรี คนที่ 16 จากการนำเสนอของชาวประมง จังหวัดสมุทรสาคร ด้วยเหตุผล ที่ว่า อุตสาหกรรมการประมง สามารถทำรายได้เข้าประเทศไทย นับหมื่นล้านต่อปี ควรจะมี “วัน” แห่งการจดจำ บันทึกไว้บ้าง (จากเดิม กำหนดไว้ ว่า วันที่ 13 เมษายน เป็นวันประมงแห่งชาติ ต่อมา จึงมาเป็น 21 กันยายน)
อาทิตย์ที่ 8 กันยายน 2562 ประมงจังหวัดขอนแก่น จึงจัดพิธีปล่อยลูกปลา ลูกกุ้ง ลงไปในอ่างเก็บน้ำของเขื่อนอุบลรัตน์ พื้นที่กว่า 256,000 ไร่ ให้พวกเขาเติบโต เป็นแหล่งโปรตีน และสร้างอาชีพ ให้ประมงพื้นบ้าน ได้มีวิถีชุมชน และเป็นความมั่งคงทางอาหาร ให้กับชุมชนโดยรอบได้อีกทางหนึ่ง
สมาชิก ชมรม 1 Day Trip in KKC ราว 80 คน มีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรม CSR ในครั้งนี้ สนุก มีความสุขกันทั่วหน้า ช่วยกันปล่อยลูกๆ ของพวกเขา กลับไปเติบโต ในแหล่งน้ำธรรมชาติ
ลูกกุ้ง กว่า 50,000 ตัว ปลาตะเพียน กว่า 100,000 ตัว และปลากินพืช รวมกว่า 300,000 ตัว ที่ปล่อยลงอ่างเก็บน้ำของเขื่อน ในวันนั้น หากพวกเขาโชคดีมีอัตราการรอด สัก 3-5 % ก็จะกลายเป็นแหล่งอาหาร ที่ควรมีการทำการประมง แบบมีความรับผิดชอบ เคารพกฏ ระเบียบ ให้เป็นสมบัติของชาติ สืบไป
กิจกรรม CSR สนุกสนาน ปล่อยลูกกุ้ง ลูกปลา ในอ่างเก็บน้ำของเขื่อนอุบลรัตน์ มีปลากว่า 50 ชนิด รวมทั้ง ปลาบึก
วิธีโยกย้าย ลูกกุ้ง ลูกปลา จากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่ง ด้วยการ ใส่น้ำ 20 % ของภาชนะ พร้อมอัดอ๊อกซิเจน วางในที่ร่ม พวกเขาอยู่ได้ ด้วยเวลาราว 5-6 ชั่วโมง
กุ้งก้ามกราม อาหารเสริฟขึ้นภัตตาคาร ตัวโต ขนาด 3 ตัวโล ได้ราคาเชียวนะ ขายหน้าน้ำ ที่จับกันได้สดๆ กิโล ละ 600 บาท
กรมประมง ก่อตั้ง เมื่อปี 2469 รัชสมัย ล้นเกล้ารัชกาลที่ 6 ปัจจุบัน กำหนดให้ 21 กันยายน ของทุกปี เป็น “วันประมงแห่งชาติ”
บรรยาย ธรรมชาติ แบบ เขื่อนๆ ร่มเย็น เห็นน้ำ และมีชีวิต ชีวา