เล่าเรื่องผ้าไหม@ขอนแก่น
12 พฤศจิกายน 62 14:23:06
คอลัมน์ “รู้จริง ถิ่นเฮา”
โดย “น้องดอกคูน”
….เรื่องเล่า อ่านสนุก ซอกมุมของบรรพบุรุษ และมองออกไปเบื้องหน้า ในบริบทของ เศรษฐกิจ สังคม การเมือง เมื่อทุกเรื่องม้วนร้อย เป็นมิติเดียวกัน เหลืองสะพรั่งของดอกคูณ และ เสียงแคน แล่นแต้ มาแล้ว………….
^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^
เครื่องนุ่งห่ม ที่ใช้ปกปิดร่างกาย พัฒนายกระดับขึ้นมาเป็นอาภรณ์ เป็นแพรพรรณที่เกิดจากเส้นใยของสัตว์ตัวน้อย จ้อยกระจิดริด ที่ทรงคุณค่า
การค้นพบประวัติศาสตร์ของ “ผ้าไหม” ค้นพบเมื่อราวกว่า 4,700 ปี ในประเทศจีน และอินเดีย จากนั้นกระจายเผยแพร่เข้ามาในแถบเอเชีย ทั้งนี้ พบในประวัติศาสตร์ว่า “ผ้าไหม” เป็นหนึ่งในเครื่องราชบรรณการ จากประเทศราช ที่มอบแก่ผู้ครองแคว้น
คุณค่าของ แพรพรรณไหม ไม่มีสิ่งใดเท่าเทียบคุณค่าได้ พบในพื้นที่ประเทศไทย สันนิฐานเมื่อราว 3,000 ปี ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แล้วจึงกระจาย ไปยังภาคต่างๆ
ผู้หญิงอีสาน จึงมีชีวิตที่ผูกพัน กับการทอผ้า หลังเสร็จงานบ้าน หุงหา เลี้ยงลูก พวกเธอจะก้าวเท้า เข้านั่งประจำการที่ กี่ทอผ้า สองมือ ขยับ จับเส้นใยในกระสวย เส้นด้ายพุ่งสาน สลับขึ้นลง เป็นจังหวะของการเรียงตัวอย่างมั่นคง กลายเป็นเนื้อผ้าเบาๆ ตามความนุ่นเนียนของเส้นใย และสีสัน ลวดลาย ตามจินตนาการ เป็นภูมิปัญญาที่ส่งผ่านจากคนรุ่นต่อรุ่น แม้ไม่ได้มีการจดบันทึก แต่เป็นการเรียนรู้ด้วยหัวใจ
มีการส่งเสริม การปลูกหม่อน เลี้ยงไหม ทอผ้า อย่างจริงจัง ในประเทศไทย ในรัชสมัยล้นเกล้า รัชกาลที่ 5 เรื่อยมา จนปี 2479 จึงมีหน่วยงานราชการส่งเสริม กระจายไปตามจังหวัด หลักๆ ได้แก่ นครราชสีมา ขอนแก่น และหนองคาย เป็นต้น
บุคคลที่ มีส่วนสร้างชื่อเสียง ให้ “ผ้าไหมไทย” คือ นักธุรกิจชาวอเมริกัน “จิม ทอมสัน” ส่งภาพให้เป็นสินค้า ระดับพรีเมี่ยม มีชื่อเสียง เป็นของใช้ ของฝาก ที่ชาวต่างชาติมองหาทุกครั้ง ที่มาเมืองไทย นับตั้งแต่ปี 2491 เป็นต้นมา
ต่อมา ผ้าไหม แพรพรรณอันสวยงาม ถูกนำมาออกแบบ เป็นชุดฉลองพระองค์ ของสมเด็จพระนางเจ้าฯ ในปี 2502 จนกลายเป็นการพัฒนาการ มาจวบจน วันนี้
จากการผลิตในครัวเรือน ก็เริ่มพัฒนา ทอผ้าเพื่อขาย ยังชีพ เมื่อการตลาดเปิดกว้าง จึงมีการผลิตเส้นไหม เชิงพาณิชย์ พบว่า ปัจจุบัน มีองค์กรภาคเอกชน เข้ามาตั้งโรงงาน เพื่อผลิตเส้นไหม ส่งไปให้ชุมชนแม่บ้าน หลายแห่งทอมือ เป็นการแบ่งงานกันทำ ตอบโจทย์ความต้องการของตลาด แต่ในส่วนหนึ่ง ยังมีการผลิตแบบบ้านๆ ด้วยวิถีดั้งเดิม ด้วยเสน่ห์แห่งแพรพรรณ ที่ชวนหลงไหล ดุจเดิม….
นครขอนแก่น นครแห่งไหม ได้รับการประกาศรับรอง ให้เป้น “เมืองหัตถกรรมโลก แห่งผ้ามัดหมี่” จาก สภาหัตถกรรมโลก-World Craft Council (WCC)-UNESCO เมื่อ วันที่ 4 ธันวาคม 2561 ที่ผ่านมา
“ผ้าไหม” จึงประดุจ “ลมหายใจ” ของนครขอนแก่น ที่มีเส้นทางได้สัมผัส ทุกปี ในงาน “เทศกาลไหมนานาชาติ ประเพณีผูกเสี่ยว และงานกาชาดจังหวัดขอนแก่น” ระหว่าง 29 พฤศจิกายน-10 ธันวาคม ของทุกปี
ปีนี้ พบกับ บรรยากาศ ของ Smart City ที่เข้าถึงภูมิปัญญาท้องถิ่นได้อย่างลงตัว เตรียมนับถอยหลัง กันได้…. พบกัน ณ บริเวณ ศาลากลาง จังหวัดขอนแก่น ….