"ไก่อบฟาง" เมนูเด็ดโดนใจในช่วงฤดูเกี่ยวข้าว จากวัตถุดิบที่หาได้จากท้องไร่ท้องนา อร่อยจริงท้าให้ลองชิม (มีคลิป)   


2 ธันวาคม 63 11:02:19

    ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศในช่วงฤดูเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวนาปีประจำปี 2563/2564 ที่ขณะนี้ทุกพื้นที่ต่างเร่งดำเนินการเก็บเกี่ยวผลผลิตอย่างต่อเนื่อง และตลอดทั้ง 24 ชม. จึงทำให้ในระยะนี้ไม่ว่าจะไปที่ใดก็จะพบเห็นภาพที่แสนน่ารักของคนในครอบครัวและชุมชนร่วมกันลงแขกเกี่ยวข้าว ตีข้าว สีข้าว ตากข้าว รวมทั้งการจัดเก็บใส่ยุ้งฉางให้แล้วเสร็จก่อนถึงช่วงปีใหม่ แต่ที่ขาดไม่ได้ของการเก็บเกี่ยวผลผลิตในระยะนี้คือการรับประทานอาหารกลางวันด้วย ซึ่งจากการลงพื้นที่สำรวจของทีมข่าวพบว่าแทบทุกครอบครัวเมื่อหยุดพักเที่ยงก็จะสรรหาเมนูเด็ดประจำถิ่นมาทำเพื่อรับประทานด้วยกันโดยเฉพาะกับเมนูไก่อบฟาง เมนูขึ้นชื่อของชาว ต.ท่าพระ อ.เมือง จ.ขอนแก่น ที่ล้วนต่างทำมารับประทานกันแทบทุกครอบครัวโดยเฉพาะที่ บ.หนองแวง ม.12 ที่วันนี้คนในครอบครัวได้ช่วยกันทำไก่อบฟาง มาเลี้ยงผู้ที่มาช่วยลงแขกเกี่ยวข้าวแทนคำขอบคุณที่มาช่วยกันคนละไม้คนละมือเพื่อให้การเกี่ยวข้าวนั้นแล้วเสร็จก่อนถึงช่วงเทศกาลปีใหม่

 



    นายชุมพล พรหมมะ ส.อบต.ท่าพระ อ.เมือง จ.ขอนแก่น กล่าวว่า เมนูไก่อบฟางเป็นเมนูพื้นเมืองที่ทำได้ง่าย เร็ว อร่อยกันได้ทุกคน จากวัตถุดิบประจำถิ่นที่หาได้ง่ายมาก เริ่มจากการใช้ไก่บ้านขนาดพอเหมาะ ทำความสะอาดให้ดี และคงสภาพไว้ทั้งตัว จากนั้นนำไปหมักกับเครื่องปรุงสมุนไพร ที่หาได้ตามท้องไร่ท้องนา ไม่ว่าจะเป็น ตะไคร้ ใบมะกรูด ข่า พริกไทยเม็ด กระเทียม และหอมหัวแดง นำมาตำให้เข้ากันแบบละเอียดที่สุด ซึ่งเมื่อโขลกทุกอย่างเข้าด้วยกันแล้วก็ปรุงรสด้วยเกลือ ซอสปรุงรส และเต้าเจี้ยว จากนั้นนำไปคลุกกับไก่ที่เตรียมไว้โดยคลุกให้ทั่วและเข้าเนื้อ ซึ่งการที่จะให้เครื่องปรุงนั้นเข้าเนื้อก็จะต้องเฉือนเนื้อไก่บางส่วนเพื่อให้เครื่องปรุงนั้นซึมเข้าเนื้อให้ได้มากที่สุดโดยใช้เวลาหมักประมาณ 30 นาที
 

    “ ในช่วงที่หมักไก่ เราก็ไปเตรียมพื้นที่กันเริ่มจากการไปเก็บฟางข้าวที่เสร็จสิ้นจากการเก็บเกี่ยว ซึ่งเก็บมาในจำนวนที่คาดว่าจะใช้เป็นเชื้อเพลิงได้อย่างเพียงพอ จากใช้จอบปรับพื้นดิน ให้เรียบ ตัดกิ่งไม้ เอาแบบมีง้าม เพื่อมาวางตัวไก่ ความยาวประมาณ 30 ซม.น่าจะพอ และเมื่อไก่หมักได้ที่ตามเวลาที่กำหนด ก็นำไก่ทั้งตัวมาเสียบลงตรงกลางไม้ที่เราไว้ จากนั้นคอบด้วยปี๊บ และที่จะขาดไม่ได้คือการใช้ขี้โคลนปิดทับให้สนิท ระหว่างรอยต่อของปี๊บกับพื้นดิน ซึ่งเมื่อมั่นใจว่าขี้โคลนปิดสนิทแล้วก็เริ่มจากการอบฟาง ซึ่งสูตรของครอบครัว จะใช้ฟางสุมทับปี๊บไก่ซึ่งจะต้องสุมฟางแบบมิดชิด โดยจุดไฟเผาให้ลุกไหม้และดับสนิท ทำแบบนี้ 3-4 ครั้ง ไก่ก็จะสุกพอดี ซึ่งสูตรของไก่อบฟางด้วยปี๊บนั้น จะต้องเผาฟางแบบครั้งต่อครั้ง ไม่ต้องสุมไฟตลอดเพราะปี๊บนั้นมีลักษณะบางหากสุมไฟลงไฟอย่างแรงและตลอดเวลา จะทำให้ทั้งปี๊บและไก่ไหม้ลงได้”

  นายชุมพล กล่าวต่ออีกว่า การที่ใช้ขี้โคลนปิดทับรอยต่อระหว่างปี๊บกับพื้นดินที่จะต้องปิดให้สนิทเพราะเราจะไม่ให้ควันไฟนั้นเล็ดรอดเข้าไปในปี๊บโดยเด็ดขาด ซึ่งเมื่อเราอบฟางด้วยการสมไฟ 3-4 ครั้งแล้วปล่อยทิ้งไว้สักพัก ก็จะเริ่มเปิดปี๊บออกมาซึ่งเราก็จะได้ไก่อบฟางที่สุกแบบพอดี รสชาติกลมกล่อมหมอกลิ่นฟาง รับประทานร่วมกันกับครอบครัวและผู้ที่มาร่วมลงแขกเกี่ยวข้าวด้วยน้ำจิ้มสูตรเด็ดแบบบ้านๆ ไม่ว่าจะเป็นน้ำจิ้มข้าวคั่ว หรือน้ำจิ้มพริกสด-มะนาว ก็อร่อยเหมือนกันได้อย่างลงตัว อย่างไรก็ตามเมนูไก่อบฟางของคนท่าพระ รสชาติจะกลมกล่อม หอมกลิ่นฟาง รับประทานกับข้าวเหนียวใหม่ร้อนๆ ก็จะอิ่มอร่อยทั้งชุมชนตลอดทั้งช่วงฤดูเกี่ยวข้าวในปีนี้อีกด้วย







เว็บโฮสติ้ง

เว็บโฮสติ้ง   Cloud Web Hosting   Streaming Server   VPS