มหาวิทยาลัยขอนแก่น แก้วิกฤต "สุนัขจรจัด" สร้างชีวิตที่ดีให้น้องหมา สร้างสุขให้ประชาคม มข.   


8 กันยายน 59 08:40:11

           เมื่อเอ่ยถึง “สุนัขจรจัด” หลายคนคงนึกภาพสุนัขผอมโซ เนื้อตัวสกปรกส่งกลิ่นเหม็น ชอบคุ้ยขยะหาอาหาร นั่ง-นอนอยู่ตามตรอกซอกซอย บริเวณโรงอาหารและหอพักต่างๆของมหาวิทยาลัยขอนแก่น บางคนใช้วิธีเดินห่างไม่เฉียดเข้าใกล้เพราะกลัวอันตราย ผลการสำรวจจำนวนประชากรสุนัขประจำปี 2559 ของสำนักงานปศุสัตว์ทั้วประเทศพบว่า เมืองไทยมีสุนัขมากกว่า 6.7 ล้านตัว ในจำนวนนี้ มีสุนัขมีเจ้าของ 6.05 ล้านตัว สุนัขไม่มีเจ้าของ 7.5 แสนตัว และมีแนวโน้มว่าจำนวนสุนัขจรจัดจะทะลุหลักล้านตัวภายในสิ้นปีนี้

            จากข้อมูลของฝ่ายโครงสร้างพื้นฐาน มหาวิทยาลัยขอนแก่น พบว่ามีสุนัขจรจัดกว่า 300-500 ตัว ที่อาศัยอยู่ในมหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่า ที่ผ่านมาสุนัขจรจัดถูกมองว่าเป็นปัญหาสังคมที่สร้างผลกระทบด้านต่างๆมากมาย ทั้งเห่าหอนสร้างมลภาวะทางเสียง วิ่งข้ามถนนตัดหน้ารถเสี่ยงทำให้เกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน คุ้ยขยะสกปรกเรี่ยราด ขับถ่ายไม่เป็นที่เป็นทางส่งกลิ่นไม่พึงประสงค์ ที่สำคัญยังถูกมองเป็นพาหะทำให้เกิดโรคระบาด โดยเฉพาะโรคพิษสุนัขบ้าซึ่งเป็นปัญหาที่ถูกร้องเรียนขึ้นมาเป็นอย่างมากจากบุคลากรและนักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่น

            จากนโยบาย Green and smart campus การเป็นองค์กรที่มีการบริหารจัดการอย่างชาญฉลาดที่คำนึงถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม โดยมีเป้าประสงค์เป็นองค์กรที่มีการจัดการที่ดีของมหาวิทยาลัยขอนแก่น ทำให้มหาวิทยาลัยขอนแก่นให้ความสำคัญและใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อม ความเป็นอยู่ของบุคลากร ตลอดจนชุมชนรอบข้าง จากการที่มหาวิทยาลัยขอนแก่นเป็นชุมชนที่มีขนาดใหญ่ ประกอบไปด้วยบุคลากร นักศึกษาที่พักอาศัยภายใน รวมไปถึงประชาชนที่ผ่านเข้าออกในพื้นที่มหาวิทยาลัย ทำให้เกิดปัญหาด้านสัตว์เลี้ยงและสัตว์จรจัดภายในมหาวิทยาลัยและยังคงเป็นปัญหาที่มีต่อเนื่องกันมา ซึ่งสุนัขจรจัดเหล่านี้เป็นพาหะนำโรคพิษสุนัขบ้าและมีการขยายพันธุ์เพิ่มจำนวนไม่สิ้นสุด มหาวิทยัยขอนแก่นจึงได้ทำโครงการทำหมันสุนัขจรจัดและส่งคืนถิ่นเดิม โดยเน้นในเรื่องการส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีภายใต้การดำเนินงานที่มีความเข้าใจต่อวิถีชุมชนและหลักวิชาการที่มีความถูกต้อง


อาจารย์ธันฐกรณ์ พงศ์พิมล รองอธิการบดีฝ่ายโครงสร้างพื้นฐาน มหาวิทยาลัยขอนแก่น
  
            อาจารย์ธันฐกรณ์ พงศ์พิมล รองอธิการบดีฝ่ายโครงสร้างพื้นฐาน มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า โครงการทำหมันสุนัขจรจัดและส่งคืนถิ่นเดิมดำเนินงานโดยสำนักงานสุขภิบาลและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยขอนแก่น ด้วยการสนับสนุนนโยบายและงบประมาณจากฝ่ายโครงสร้างพื้นฐาน มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยมีเป้าหมายที่จะนำสุนัขจรจัดที่มีอยู่ทั่วไปในพื้นที่มหาวิทยาลัยไปดำเนินการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าพร้อมทั้งทำหมันเพื่อควบคุมจำนวน นอกจากนี้ยังมีการทำทะเบียนประวัติเพื่อเก้บข้อมูลในการติดตามดูแล โดยการมีส่วนร่วมกับโรงพยาบาลสัตว์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และมีเป้าหมายของการดำเนินโครงการในเฟสแรกตามปีงบประมาณนี้ภายในวันที่ 30 กันยายน 2559


ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สมศักดิ์ พิทักษานุรัตน์ รักษาการผู้อำนวยการสำนักงานสุขาภิบาลและสิ่งแวดล้อม มข.
   
             ทางด้าน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สมศักดิ์ พิทักษานุรัตน์ รักษาการผู้อำนวยการสำนักงานสุขาภิบาลและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า “ปัญหาสุนัขจรจัดเป็นปัญหาใหญ่เนื่องจากมีอยู่ทั่วไปในมหาวิทยาลัย โดยพบ 3 ปัญหาใหญ่ คือ 1.พิษสุนัขบ้า 2.เหตุรำคาญ การเห่าหอนต่างๆ และ 3.อันตรายจากสุนัข เช่น ไล่กัด ซึ่งเป็นปัญหาที่ถูกร้องเรียนขึ้นมาเป็นอย่างมาก สอดคล้องกับมหาวิทยาลัยขอนแก่นต้องการที่จะเป็นมหาวิทยาลัยสุขภาวะ เป็นมหาวิทยาลัยแห่งความสุข จึงเกิดเป็นโครงการนี้ขึ้นมาเพื่อลดปัญหาในแต่ละด้าน เพื่อให้คนในมข. อยู่ร่วมกับสุนัขจรจัดได้อย่างมีความสุข โดยได้ประสานงานกับคณะสัตวแพทย์เพื่อให้เข้ามามีส่วนช่วยในการดูแลสุนัขในการฉีดวัคซีน ทำหมัน โดยใช้บุคคลากรจากทางคณะ รวมไปถึงประสานงานกับเทศบาลนครขอนแก่น เริ่มจากการสำรวจประชากรสุนัขตามสถานที่ต่างๆ ซึ่งมีจำนวนหลายร้อยตัวแล้วจึงเริ่มจากสถานที่ที่มีปัญหาและได้รับผลกระทบมากที่สุด เน้นไปที่ที่พักอาศัยก่อน เมื่อจับสุนัขได้แล้วก็จับใส่กรงแล้วจึงนำไปฉีดวัคซีน หรือทำหมัน เมื่อดำเนินการเสร็จเรียบร้อยก่อนจะนำสุนัขนั้นไปปล่อยคืนไว้ที่เดิม ทั้งยังทำให้ประชาชนสบายใจว่าสุนัขไม่ได้เป็นโรคพิษสุนัขบ้า”

            “โครงการนี้มีที่มาจากการที่บุคลากรของมหาวิทยาลัยขอนแก่นพูดถึงปัญหาสุนัขจรจัดที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จากข้อมูลพบว่ามีสุนัขจรจัดกว่า 300-500 ตัว อาศัยอยู่ในมหาวิทยาลัยขอนแก่น หลังจากการหารือกันจึงเกิดเป็นการประชุมเพื่อจะจัดการกับเรื่องนี้อย่างเป็นระบบโดยเชิญผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องเข้ามาร่วมประชุมด้วยเพื่อร่วมกันแนวทางป้องกันทั้งทางภาครัฐและภาคีภาคเอกชน เกี่ยวกับปัญหาของสุนัขจรจัด ประกอบกับมหาวิทยาลัยต้องการพัฒนาให้เป็นชุมชนที่น่าอยู่ ประกอบกับคณะสัตวแพทย์ มข. ก็มีโครงการที่เกี่ยวข้องกับการดูแลสุนัขจรจัดอยู่แล้ว จึงผนวกโครงการนี้เข้าด้วยกัน เพื่อที่จะดูแลฉีดวัคซีน ทำหมันให้กับสุนัขที่มีความสุ่มเสี่ยงเป็นภัยต่อบุคลากร มข. โดยมีผู้รับผิดชอบโครงการจำนวน 3 ท่าน คือ คุณสมจิตร์ สาระรัตน์ คุณสมฤกษ์ บุญพรหมมา และคุณวงเดือน พิมพ์ชายน้อย เป็นผู้ปฏิบัติการลงพื้นที่จับสุนัขจรจัดในเขตพื้นที่มหาวิทยาลัย

            ลักษณะของโครงการจะจับสุนัขจรจัดไปดูแลเรื่องสุขภาพ หากพบอาการบัดเจ็บหรือมีโรคติดตัวจะทำการรักษาอาการต่างๆให้หายก่อน หลังจากนั้นก็จะทำการลงทะเบียนและทำหมันเพื่อจำกัดจำนวนประชากรสุนัขภายใน มข. หลังจากการพักฟื้นในโรงพยาบาลสัตว์ มข. และเสร็จขั้นตอนทั้งหมดแล้วก็จะนำส่งคืนถิ่นเดิม ซึ่งเป็นที่อยู่ที่สุนัขคุ้ยเคยและได้รับการให้อาหารจากบุคลากรอยู่แล้ว โครงการนี้เป็นโครงการแรกจึงนำร่องการจัดการสุนัขจรจัดก่อนทั้งสิ้น 30 ตัว โดยใช้งบประมาณของฝ่ายโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งท่านอธิการบดีก็เห็นชอบด้วยกับโครงการนี้พร้อมอนุมัติโครงการด้วยงบประมาณจำนวน 120,000 บาท โดยเฉลี่ยค่าใช้จ่าย 3500 ต่อหนึ่งตัว ซึ่งถือว่าเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าเนื่องจากจะช่วยบริหารจัดการให้ชุมชน มข. เป็นพื้นที่ที่น่าอยู่และเอื้ออาทร บุคลากรที่อยู่ในรั้วมหาวิทยาลัยขอนแก่น รวมไปถึงคนที่สัญจรผ่านไปมามีความปลอดภัยจากสุนัขจรจัด” อาจารย์ธันฐกรณ์ กล่าว

            จากการประเมินความคุ้มค่าผลสรุปว่าวิธีจับสุนัขมาทำหมัน ฉีดวัคซีนแล้วนำกลับสู่ถิ่นเดิมเป็นวิธีการที่คุ้มค่าและไม่ส่งผลเสียในระยะยาว ผลที่คาดว่าจะได้รับก็คือสุนัขจะมีอาการก้าวร้าวน้อยลงเป็นมิตรกับคนเพิ่มมากขึ้น ถึงแม้ว่าโครงการนำร่องจะสามารถจัดการกับสุนัขได้เพียง 30 ตัว หรือเพียงร้อยละ 10 แต่โครงการนี้จะเป็นโครงการที่ทำต่อเนื่องต่อไปในอนาคต นอกจากการดูแลรักษาและทำหมันแล้วยังจะมีการฝังชิปในตัวสุนัขเพื่อที่จะสามารถติดตามความเคลื่อนไหวและสามารถตรวจสอบประวัติสุนัขได้ โดยเขตพื้นที่นำร่องแรกก็คือบริเวณแฟลตป่าดู่ ซึ่งเป็นบริเวณที่ได้รับการร้องเรียนปัญหาเกี่ยวกับสุนัขจรจัดมากกว่าที่อื่น

            อาจารย์ธันฐกรณ์ พงศ์พิมล ได้เน้นย้ำอีกว่า “ทางโครงการได้ใช้วิธีการและมาตรการการจับสุนัขที่ดีและถูกต้องทั้งโดยบุคลากรที่ใกล้ชิดกับสุนัข หรือสุนัขที่มีอาการดุและก้าวร้าวจำเป็นที่จะต้องใช้วิธีให้ยาสลบโดยใช้ลูกดอกจากสัตวแพทย์ผู้เชี่ยวชาญตามกระบวนการที่ถูกต้อง ด้านความคุ้มทุนในการลงทุนกับโครงการนี้เพื่อดูแลสุนัขนั้นวัดจากความผาสุขของบุคลากร มข. สภาพแวดล้อมที่สุนัขเป็นมิตรและไม่ทำร้ายผู้คนที่สัญจรผ่านไปมา ทั้งยังเป็นการส่งเสริมวิชาการทางสัตวแพทย์อีกด้วยซึ่งเป็นเป้าหมายหลักของฝ่ายโครงสร้างพื้นฐานมหาวิทยาลัยขอนแก่น จึงอยากให้บุคลากร มหาวิทยาลัยขอนแก่น ทุกท่านมั่นใจในความปลอดภัยในการดำรงณ์ชีวิตภายในรั้วมหาวิทยาลัยขอนแก่นอย่างมีความสุข"


ข่าว: บริพัตร ทาสี
ข้อมูลข่าว: อุดมชัย สุพรรณวงศ์
ภาพ: เสาวลักษณ์ ศรีสังข์ และ กองสื่อสารองค์กร มหาวิทยาลัยขอนแก่น
https://www.kku.ac.th/news/v.php?q=0012979&l=th







เว็บโฮสติ้ง

เว็บโฮสติ้ง   Cloud Web Hosting   Streaming Server   VPS