"แก่งน้ำต้อน" แก้มลิงรองรับน้ำเมืองขอนแก่น น้ำล้นฝาย ต้องขึ้นป้าย "ห้ามลงเล่นน้ำ"   


4 ตุลาคม 59 13:29:04

เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 2 ต.ค. 59 สถานการณ์น้ำในจังหวัดขอนแก่น หลังจากมีฝนตกหนักติดต่อกันหลายวันทำให้มีน้ำไหลเข้าในหนองน้ำสาธารณะ “แก่งน้ำต้อน”  ซึ่งเป็นแหล่งน้ำสาธารณะทั่วไปอยู่ในเขตพื้นที่หมู่ 3, 4,16,และ หมู่ 17 บ้านกุดกว้าง ต.เมืองเก่า อ.เมือง จ.ขอนแก่น ซึ่งเป็นแก้มลิงลองรับน้ำอำเภอเมืองขอนแก่น มีปริมาณน้ำเกินความจุของอ่างจนไหลล้นออกฝายน้ำล้นลงมาที่ห้วยบ้านกุดกว้าง ทำให้เทศบาลตำบลเมืองเก่า ต้องเขียนป้ายประกาศเตือน เรื่องความปลอดภัย เนื่องจากน้ำหลากมีน้ำไหลเชี่ยว เพื่อความปลอดภัยของพี่น้องประชาชน จึงขอความร่วมมือ “ห้ามลงเล่นน้ำ” บริเวณฝายน้ำล้น แต่ก็ยังมีประชาชนส่วนหนึ่งฝ่าฝืนคำสั่งใช้แหไปหาปลาตรงจุดน้ำหลาก อีกส่วนหนึ่งไปหาข้างหนองน้ำ
 
ขณะเดียวกัน นายพงษ์ศักดิ์  ปรีชาวิทย์  ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่นขอนแก่น ได้มาเป็นประธานคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำจังหวัดขอนแก่น ซึ่งมีหน่วยงานข้าราชการและแก้ปัญหาน้ำท่วมใน จ.ขอนแก่น เข้าประชุมจำนวนมากที่ห้องประชุมสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดขอนแก่น (ชั้น 2) ศาลากลางจังหวัดขอนแก่น
 
ด้วยจังหวัดขอนแก่น ได้รับแจ้งจากโครงการชลประทานขอนแก่น ว่าได้ติดตามสถานการณ์น้ำฝน น้ำท่า ในเขต จ.ขอนแก่น และจ.ชัยภูมิ ซึ่งเป็นพื้นที่เกี่ยวข้องต่อเนื่อง พบว่ามีฝนตกต่อเนื่อง ทำให้มีปริมาณน้ำท่าในแม่น้ำชีเพิ่มสูงขึ้น อย่างไรก็ตามจากข้อมูลน้ำท่าที่สถานีวัดแม่น้ำในแม่น้ำชี จะเห็นได้ว่าแม่น้ำชีในเขตจังหวัดขอนแก่น ปัจจุบันยังสามารถรับน้ำท่าจาก จ.ชัยภูมิได้ 
 


นายพงษ์ศักดิ์  ผวจ.ขอนแก่น กล่าวว่า สนง.อุตุนิยมวิทยาภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน รายงานสถานการณ์ฝนใน จ.ขอนแก่นจะมีฝนตกประปรายในช่วงวันที่ 4 – 10 ต.ค. ในส่วนสถานการณ์น้ำในเขื่อนอุบลรัตน์ ณ ปัจจุบันมีน้ำในอ่าง 1,628 ล้าน ลบ.ม.หรือ 65 % ของความจุอ่าง มีน้ำใช้งานได้ 1,046 ล้าน ลบ.ม. โดยมีน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำ 50 ล้าน ลบ.ม. น้ำที่ระบาย 1.5 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งระบายมาก่อนที่จะมีฝนตกมาอย่างต่อเนื่องเมื่อ 1 – 2 เดือนที่ผ่านมา จึงต้องขอมติให้คณะกรรมการบริหารจัดการน้ำ จ.ขอนแก่น ต้องระบายน้ำออกจากเขื่อนอุบลรัตน์ 5- 15 ล้าน ลบ.เมตร/ วัน เขื่อนอุบลรัตน์จะมีความปลอดภัยมากขึ้น 
  
ถ้าหากเขื่อนอุบลรัตน์ยังระบายเท่าเดิมระดับน้ำจะเพิ่มขึ้นในเขื่อนที่ไม่เป็นผลดีกับเขื่อนมากนัก จึงต้องมีความจำเป็นต้องเปิดประตูน้ำส่วนหนึ่งเพื่อให้ระดับน้ำน้อยลงและมีที่ว่างให้รองรับน้ำในช่วงเดือนพฤศจิกายนที่จะมีฝนตกลงมาอีก ถ้าไม่ระบายในช่วงนี้ หากมีฝนตกในพื้นที่รับน้ำมากๆก็ไม่สามารถบริหารจัดการน้ำชีได้ ปริมาณน้ำก็จะไหลลงมาที่ จ.ขอนแก่น มหาสารคาม และ จ.ร้อยเอ็ด จะเกิดภาวะน้ำท่วมในสามจังหวัดดังกล่าวได้ ขณะนี้การระบายน้ำในเขื่อนอุบลรัตน์ยังต้องอยู่ในการพิจารณาของคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำจังหวัดขอนแก่น ว่าจะมีการระบายน้ำในเขื่อนอุบลรัตน์วันต่อวันเพิ่มขึ้นกว่าเดิมหรือไม่.

ขอขอบคุณภาพและข่าว
คุณวิวัฒน์  หมื่นกันยา และคุณก่อสิทธิ์   กองโฉม







เว็บโฮสติ้ง

เว็บโฮสติ้ง   Cloud Web Hosting   Streaming Server   VPS