'หมอฟัน' เกียรตินิยมอันดับ1 คนขอนแก่น เรียนจบเลือกทำงานที่ จ.นราธิวาส แทนคุณแผ่นดิน   


23 ธันวาคม 59 10:55:50

'หมอฟัน' เกียรตินิยมอันดับ1 คนขอนแก่น เรียนจบเลือกทำงานที่ จ.นราธิวาส แทนคุณแผ่นดิน

'ทพญ.ณัฐวรินทร ธาตุดี' เจ้าของรางวัลบัณฑิตทันตแพทยศาสตร์ดีเด่น 2559 เลือกเป็นข้าแผ่นดินที่จ.นราธิวาส น้อมนำคำสอนพ่อหลวง ร.9 “ปิดทองหลังพระ” มาใช้ ตั้งปณิธานเป็นทันตแพทย์ที่ดีตามต้นแบบอาจารย์ทันตะ มข.

         “ทพญ.ณัฐวรินทร   ธาตุดี”  บัณฑิตป้ายแดง เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง ของคณะทันตแพทยศาสตร์  ผู้ได้รับรางวัลนักศึกษาที่มีผลการเรียนดีเด่น   คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นคะแนนเฉลี่ยสะสม 3.71 ในปีการศึกษา 2558 และได้เข้ารับพระราชทานรางวัลจาก สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี กับรางวัลและประกาศเกียรติคุณบัณฑิตทันตแพทยศาสตร์ดีเด่น ประจำปี 2559 ของมูลนิธิสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก  ก่อนการเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรมหาวิทยาลัยขอนแก่น ประจำปี 2559 จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี อีกครั้ง

          “ณัฐวรินทร   ธาตุดี”  เป็นคนอำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น  ครอบครัวธาตุดี เป็นครอบครัวเล็กๆ พ่อรับราชการ แม่ค้าขาย  และมีน้องหนึ่งคน  มีชีวิตที่ราบรื่นมาโดยตลอด  แต่ชีวิตกลับพลิกผันเมื่อพ่อซึ่งเป็นเสาหลักของครอบครัวเสียชีวิตขณะที่ณัฐวรินทรกำลังเรียนชั้นม.6 ที่ รร.สาธิตมหาวิทยาลัยมหาสารคาม  แม่ต้องกัดฟันสู้เลี้ยงลูกสองคนเพียงลำพัง  แต่ด้วยเป็นคนที่ใส่ใจในการเรียนดีมาตลอด มีรางวัลการันตีความสามารถทั้งด้านการเรียนดี กีฬาเด่น มีใบประกาศเกียรติคุณติดข้างฝา และถ้วยรางวัลเรียงรายมาตั้งแต่เรียนชั้นประถม  ดังนั้น ความฝันของณัฐวรินทรในการเป็นหมอฟันจึงไม่เกินฝัน สามารถสอบเข้าเรียนคณะทันตแพทยศาสตร์  มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้ดังใจ 

          การเลือกเรียนคณะทันตแพทยศาสตร์นั้น  “ณัฐวรินทร”  มองว่า  ทันตแพทย์เป็นอาชีพที่มั่นคงและมีเกียรติ ได้ใช้ความรู้ความสามารถที่ได้เรียน มาช่วยเหลือ ช่วยบรรเทาความเจ็บปวดและโรคในช่องปากให้กับประชาชนได้เช่นเดียวกับแพทย์และอาชีพอื่นๆ ซึ่งปัญหาสุขภาพช่องปากเป็นปัญหาที่สำคัญ หากมีปัญหาด้านสุขภาพช่องปาก เช่น ปวดฟัน ไม่สามารถเคี้ยวอาหารได้ ก็จะส่งผลต่อสุขภาพร่างกายโดยรวมได้ รวมทั้งส่งผลต่อสุขภาพจิต เกิดความเจ็บปวด ความเครียด ทำให้ไม่มีสมาธิในการทำงาน เกิดผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของประชาชนได้  อีกทั้งเป็นอาชีพที่ไม่มีการขึ้นเวรมากเมื่อเทียบกับอาชีพแพทย์ แต่ก็สามารถทำประโยชน์ให้กับผู้อื่นได้ไม่น้อยเช่นกัน  ทั้งยังสามารถแบ่งเวลามาดูแลครอบครัว ดูแลคุณแม่และน้องสาวได้ตามคำสัญญาที่ให้ไว้กับคุณพ่อเมื่อครั้งยังมีชีวิตอยู่  ที่จะเป็นเสาหลักของครอบครัวแทนท่านตามที่ตั้งใจไว้  และจบการศึกษาในปี พ.ศ.2559 ด้วยคะแนนเกียรตินิยมอันดับหนึ่ง

         "ณัฐวรินทร" เล่าถึงแรงบันดาลใจในการเลือกอนาคตการทำงานว่า  “จากการดูข่าวในทีวี ได้เห็นพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช สมเด็จพระบรมราชินีนาถ  ทั้งพระบรมวงศานุวงศ์หลายพระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมเยือน พระราชทานความช่วยเหลือแก่ประชาชนที่ภาคใต้บ่อยครั้ง แม้มีข่าวมีเหตุการณ์ไม่สงบในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ก็ตาม   แต่คิดหาเหตุผลเอาเองว่า คงเป็นเพราะพวกเขาเหล่านั้นคือ ประชาชนคนไทยของพระองค์  ทำให้เกิดความรู้สึกซาบซึ้งในสิ่งที่พระองค์ท่านทรง “ให้” กับประชาชนชาวไทยช่างยิ่งใหญ่เหลือเกิน  เมื่อหันกลับมาที่ตัวเอง จึงอยากจะตามรอยพระบาทของพระองค์ท่าน ในฐานะข้าราชการ ทำงานแทนพระองค์ อยากจะมาช่วยดูแลสุขภาพช่องปากของชาวบ้าน  ชายแดนใต้ไม่ค่อยมีคนอยากมาทำงาน เพราะหวั่นกลัวเรื่องอันตราย ทำให้ชาวบ้านยังขาดแคลนบุคลากรให้การดูแลด้านสุขภาพอยู่ โดยเฉพาะจังหวัดนราธิวาส ซึ่งมีปัญหาฟันผุสูงที่สุดในประเทศไทย ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงมาก   เมื่อหันกลับมามองตัวเองว่าเราเป็นเพียงส่วนเล็กๆ ในแผ่นดิน สิ่งที่ทำได้ ในขณะที่เรายังมีกำลังก็มีเพียงเท่านี้ และถือว่ามาสัมผัส เรียนรู้ประสบการณ์ที่น้อยคนจะได้มาสัมผัส  และเรียนรู้วัฒนธรรมของชาวไทยมุสลิมที่นี่ด้วย ถือว่าเป็นประสบการณ์ที่ดีมากทีเดียว เมื่อเรียนจบจึงได้เลือกทำงานในตำแหน่งทันตแพทย์ ปฏิบัติการ ที่ฝ่ายทันตสาธารณสุข โรงพยาบาลศรีสาคร  อำเภอศรีสาคร จังหวัดนราธิวาส 

          กับคำถามที่ว่า ทำไมถึงตัดสินใจมาทำงานที่จ.นราธิวาสนั้น  ทพญ.ณัฐวรินทร  บอกว่า  “เรียนจบมาด้วยเงินภาษีของประชาชน ก็ควรทำอะไรเพื่อเป็นการตอบแทนประชาชน โดยการตั้งใจทำงาน รักษาผู้ป่วยด้วยความรู้ความสามารถทั้งหมดที่ได้ร่ำเรียนมาอย่างเต็มกำลังของเรา อีกทั้งได้เป็นข้าราชการของแผ่นดิน คำว่าข้าราชการนั้น ข้า หมายถึง ข้ารับใช้ ราชหรือราชะ หมายถึง พระมหากษัตริย์ การ หมายถึง การงาน ความหมายโดยรวมของคำว่า  “ข้าราชการ” จึงหมายถึง เป็นผู้ที่ทำงานแทนพระราชาในการดูแลบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้กับประชาชน ดังนั้นทุกวันที่เรามาทำงาน ก็ควรที่จะระลึกถึงคำนี้ไว้เสมอและปฏิบัติตามหน้าที่ของตนให้เต็มที่”

          ชีวิตการทำงานในหน้าที่ทันตแพทย์นั้น ทพญ.ณัฐวรินทร  เล่าว่า  “ความภาคภูมิใจครั้งหนึ่งในชีวิตเมื่อเข้าทำงานใหม่ๆ  ในวันที่13 มิถุนายน 2559 ได้มีโอกาสไปรับเสด็จสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี  ซึ่งทรงเสด็จพระราชดำเนินมาตรวจเยี่ยม ติดตามผลการดำเนินงานโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนตืองอ และโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนละ  ซึ่งเป็นโรงเรียนในพระราชดำริ  ที่อำเภอศรีสาคร จังหวัดนราธิวาส  ได้มีโอกาสร่วมออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่  การได้ทำงานตามรอยเบื้องพระยุคลบาท  ไม่เพียงแต่ได้เข้าเฝ้าอย่างใกล้ชิด  พระองค์ท่านยังทรงโปรดฯ ให้หน่วยแพทย์เคลื่อนที่ได้ร่วมฉายพระรูป  ในวันนั้นเป็นช่วงบ่ายที่อากาศร้อนมาก ทรงเสด็จพระราชดำเนินไปติดตามดูงานอย่างไม่ทรงแสดงอาการเหน็ดเหนื่อยให้ได้เห็น  แม้จะทรงมีพระเสโทเต็มพระพักตร์ แม้จะทรงเหน็ดเหนื่อย แต่พระองค์ก็ยังทรงงานพร้อมกับทรงแย้มพระสรวลอยู่ตลอด เป็นภาพที่ประทับใจอย่างยิ่ง จึงปฏิญาณในใจว่า ‘เราในฐานะข้าในพระองค์ ก็ควรจะต้องทำงานให้เต็มที่ เต็มกำลังความสามารถเช่นกัน’ ”

          เมื่อได้ออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ครั้งแรก ทพญ.ณัฐวรินทร  เล่าว่า  “วันแรกที่ได้มีโอกาสไปออกหน่วยศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก (ศพด.)  ส่วนใหญ่เป็นเด็กมุสลิม รู้สึกตื่นเต้นมาก ไม่เคยเห็นเด็กมุสลิมในชุดนักเรียนที่เป็นแบบเฉพาะตัวของเขา ผู้ชายเป็นกางเกงขายาว ผู้หญิงก็เป็นกระโปรงยาวถึงข้อเท้า มีผ้าคลุม (ฮิญาบ) น่ารักจริงๆ เด็กๆ ไม่เคยเห็นหมอหรือหมอฟันมาออกเยี่ยมพวกเขาแบบนี้ เด็กๆ พากันตื่นเต้น เห็นพี่หมอใส่ชุดเสื้อกาวด์ก็ร้องดีใจใหญ่เลย พากันชี้ดูบอก “บอมอมาๆ” (บอมอ หมายถึง หมอ หรือ หมอฟัน) คุณครูบอกว่า ไม่ได้มีหมอฟันมาออกโรงเรียนนานมากแล้ว พอจะตรวจฟัน เด็กๆ ก็บอกว่า “ตอกีเยาะๆ" ในพี่ทันตาภิบาลช่วยเป็นล่ามให้ จึงรู้ว่า “ตอกีเยาะ” แปลว่า "ไม่ร้อง"  แถมเด็กให้บอกอีกว่า  “บอกบอมอ ว่าเขาเก่งนะ ไม่ร้องไห้เลยตอนทำฟัน”  ได้แต่ชมเด็กๆ ว่า “จีดิ๊” ซึ่งแปลว่า “เก่ง” พร้อมยกนิ้วให้ พอเราชมเท่านั้น เด็กๆ ก็ดีใจกันใหญ่  หลังจากตรวจฟันเสร็จมีเวลาว่างนิดหน่อย เลยได้โอกาสชวนเด็กเล่น กรรไกร ไข่ ผ้าไหม ปรากฏว่าเด็กที่นี่ไม่รู้จัก กรรไกร ไข่ ผ้าไหม ก็เลยสอนให้ เด็กๆ สนุกกันใหญ่พอตอนจะกลับเด็กๆ ก็บอก ไม่อยากให้กลับ อยากให้มาอีก ก็ได้สัญญากับเด็กๆ ว่าจะมาอีกแน่นอน”

          ทพญ.ณัฐวรินทร  เล่าต่อไปว่า  “อีกเคสเป็นคุณยายที่ทำฟันเทียมทั้งปาก เป็นเคสแรกที่ได้ทำฟันเทียม  คุณยายพูดได้เพียงภาษามลายูเท่านั้น แรกๆ นั้นสื่อสารกันค่อนข้างลำบาก ต้องอาศัยผู้ช่วยทันตแพทย์เป็นล่ามแปลให้ แต่ด้วยความที่เราอยากจะพูดได้ ก็พยายามเรียนรู้  และจดคำศัพท์ คำแปลแต่ละประโยคที่เกี่ยวข้อง  และตั้งใจท่องมาอย่างดี วันถัดมาก็พูดตามที่ท่องมา แต่คุณยายก็ฟังไม่ค่อยออก เพราะสำเนียงไม่เหมือนกับคนท้องถิ่น  แต่คุณยายก็พยายามทำความเข้าใจ และให้ความร่วมมือดีมากๆ  จนปัจจุบัน ก็สามารถสื่อสารกับคนไข้คนอื่นๆได้ดีขึ้น  เมื่อคุณยายมารับการรักษาทีไรก็จะมีผลไม้ หรือทุเรียนมาฝากให้ตลอด  ทำให้เราเข้าใจว่าการที่เราพยายามเรียนรู้วัฒนธรรม ภาษาของเขาและพยายามปรับตัวให้เข้ากับท้องที่ที่เรามาอาศัยนั้น จะเป็นการสร้างความสัมพันธ์ของเราในฐานะหมอและคนไข้ได้ดีขึ้น กลายเป็นที่รักของคนไข้และคนไข้ก็จะสนิทใจที่จะมารักษากับเรา”

          การที่มีหัวใจแห่งการเป็นผู้ให้แก่สังคมนั้น  ทพญ.ณัฐวรินทร กล่าวว่า  “คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มีส่วนอย่างมากในการปลูกฝังในเรื่องของการ “ให้”  เพราะในแต่ละวิชานั้นอาจารย์ก็ได้สอดแทรกเรื่องของคุณธรรมจริยธรรม การเสียละแบ่งปัน ตลอดจนการเป็นทันตแพทย์ที่ดีอยู่เสมอ นอกจากนี้ทางคณะและมหาวิทยาลัยก็ได้มีกิจกรรมปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรม ความสามัคคีและค่านิยมอันดีงามให้แก่นักศึกษาตลอด  อีกทั้งอาจารย์ทุกท่านก็เป็นแบบอย่างของทันตแพทย์ที่ดี มีความเสียสละ เป็นบุคคลต้นแบบที่เราอยากจะยกท่านเป็นแบบอย่างอันดีงามให้เราปฏิบัติตามเพื่อที่จะได้เป็นคนดี เป็นทันตแพทย์ที่ดีอย่างท่านค่ะ”

          ทพญ.ณัฐวรินทร ฝากถึงน้องๆ ทุกคนที่ได้มาเรียนในคณะทันตแพทยศาสตร์ ให้ถือว่าโชคดี เพราะเป็นวิชาชีพที่สามารถช่วยเหลือทำประโยชน์ให้กับผู้อื่นได้ เป็นอาชีพที่ได้ทำบุญรักษาผู้ป่วยอยู่เสมอ   ดังนั้น ควรพึงระลึกไว้เสมอถึงหน้าที่ของตนเอง ให้ทำตามหน้าที่ให้ดีอย่างเต็มที่  เรียนหนังสืออย่างตั้งใจเพราะวิชาที่อาจารย์สอนทั้งหมดนั้นสำคัญ สามารถนำมาใช้ช่วยเหลือผู้ป่วยได้อย่างแท้จริง 

          พร้อมทั้งฝากให้ พึงระลึกถึงความกตัญญูซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญ เพราะเป็นเครื่องหมายแสดงถึงคนดี  โดยให้มี 4 กตัญญู  ได้แก่   ความกตัญญูต่อบุพการี โดยการตั้งใจเล่าเรียนตามที่ท่านส่งเสีย กตัญญูต่อครูอาจารย์ โดยการเป็นศิษย์ที่ดี นำความรู้ที่อาจารย์สอนสั่งมาใช้เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วย กตัญญูต่อคณะและมหาวิทยาลัย โดยการเป็นนักศึกษาที่ดี ประพฤติปฏิบัติตนอยู่ในกฎระเบียบของมหาวิทยาลัย หากมีโอกาสทำคุณประโยชน์และชื่อเสียงให้คณะและมหาวิทยาลัยได้ ขอให้พึงกระทำ  สุดท้ายให้กตัญญูต่อแผ่นดิน เราได้เรียน มีความรู้ประดับตน จากเงินภาษีของประชาชน ดังนั้นเมื่อจบแล้ว ขอให้เป็นทันตแพทย์ที่ดี ตั้งใจรักษาผู้ป่วยอย่างเต็มกำลังความสามารถและให้หมั่นทำความดีอยู่เสมอ เมื่อมีโอกาส โดยค่อยๆทำความดีสะสมไปเรื่อยๆ อย่ารักษาผู้ป่วยเพียงเพื่อหวัง เงินทองหรือชื่อเสียง อย่าทำความดีเพื่อหวังสิ่งใดตอบแทน แต่ให้กระทำความดีดั่งเช่นการปิดทองหลังพระ ดังพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9

          “ให้ปิดทองหลังพระก็เพื่อเตือนตัวเองว่า การทำความดีไม่จำเป็นต้องอวดใคร หรือประกาศให้ใครรู้ ให้ทำหน้าที่เพื่อหน้าที่ และถือว่าความสำเร็จในการทำหน้าที่เป็นบำเหน็จรางวัลที่สมบูรณ์แล้ว…..ปิดทองข้างหลังพระไปเรื่อยๆ แล้วทองจะล้นออกมาที่หน้าพระเอง…….เมื่อเราทำได้ดังนี้แล้ว ชื่อเสียง เงินทองและลาภยศก็จะตกแก่เราเองตามสมควรแก่วิชาชีพ”

          พระราชดำรัส อันแฝงไว้ด้วยปรัชญาที่ลึกซึ้ง เพื่อการมุ่งมั่นกระทำความดีอย่างไม่ย่นย่อ เป็นปณิธานในการ "ทำหน้าที่ เพื่อหน้าที่ " เป็นบำเหน็จรางวัลอันสมบูรณ์แล้ว ไม่จำเป็นต้องประกาศการกระทำนั้นโดยเปิดเผย..  ที่ ทพญ.ณัฐวรินทร  ธาตุดี ได้ยึดมั่นเป็นหลักชัยของชีวิต

ที่มา https://www.kku.ac.th/news/v.php?q=0013423&l=th
ข่าว   :   วัชรา  น้อยชมภู
ภาพ  :   วัชรา  น้อยชมภู  /   ประชาสัมพันธ์คณะทันตแพทยศาสตร์   / ทพญ.ณัฐวรินทร  ธาตุดี







เว็บโฮสติ้ง

เว็บโฮสติ้ง   Cloud Web Hosting   Streaming Server   VPS