โรงไฟฟ้าน้ำพอง คว้ารางวัล TQC ตอกย้ำการบริหารองค์กรที่มีมาตรฐานระดับโลก
3 เมษายน 60 23:27:57

โรงไฟฟ้าน้ำพอง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) หนึ่งในเจ็ดองค์กรไทยคุณภาพที่ได้รับรางวัล "การบริหารสู่ความเป็นเลิศ หรือ Thailand Quality Class (TQC)” ประจำปี 2559 จากกระทรวงอุตสาหกรรม และสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ แสดงถึงความเป็นเลิศในการบริหารจัดการขององค์กรที่ทัดเทียมระดับมาตรฐานโลก
เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2560 ที่หอประชุมเล็ก ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทยนายสมชาย หาญหิรัญ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานมอบรางวัลคุณภาพแห่งชาติ ประจำปี 2559 ซึ่งเป็นรางวัลสำหรับองค์กรในประเทศไทยที่มีวิธีปฏิบัติและผลการดำเนินการในระดับมาตรฐานโลก ในการนี้ นายกรศิษฏ์ ภัคโชตานนท์ ผู้ว่าการ กฟผ.เข้ารับมอบรางวัล “การบริหารสู่ความเป็นเลิศ หรือ Thailand Quality Class (TQC)” ประจำปี 2559 จากระบบบริหารจัดการของโรงไฟฟ้าน้ำพอง อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น และโรงไฟฟ้าบางปะกง อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา โดยมีนายนิกูล ศิลาสุวรรณ รองผู้ว่าการผลิตไฟฟ้า นายเชาวลิต ตั้งตระกูล ผู้ช่วยผู้ว่าการผลิตไฟฟ้า 1 นายอมรพันธ์ ลีลาภรณ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการผลิตไฟฟ้า 2 นายจรัญ คำเงิน ผู้อำนวยการโรงไฟฟ้าน้ำพอง นายยงยุทธ ปรีชม ผู้อำนวยการฝ่ายการผลิตโรงไฟฟ้าบางปะกง พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร และผู้ปฏิบัติงาน กฟผ. ร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีมอบรางวัล

นายสมชาย หาญหิรัญ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า เกณฑ์การรับรางวัลนี้จะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้องค์กรมีการปรับตัวเพราะเกณฑ์การรับรางวัลจะปรับเปลี่ยนไปตามเกณฑ์หรือทิศทางการพัฒนาในระดับโลก ดังนั้นองค์กรในประเทศไทยต้องมีการปรับตัว เปลี่ยนแปลงให้ทันต่อการปรับตัวของโลก ต้องมีการพัฒนาทั้งวัฒนธรรม ผู้ปฏิบัติงาน และนวัตกรรม เพื่อให้แข่งขันได้ในระดับสากล อันจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจของประเทศโดยภาพรวม ซึ่งองค์กรที่ได้รับรางวัลในครั้งนี้ถือเป็นการแสดงให้เห็นถึงวิสัยทัศน์ และแผนการทำงานขององค์กร

นายจรัญ คำเงิน ผู้อำนวยการโรงไฟฟ้าน้ำพอง กล่าวว่า ด้วยความมุ่งมั่นของผู้ปฏิบัติงานในการพัฒนาโรงไฟฟ้าน้ำพอง เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้าของประเทศ และเป็นที่ยอมรับของชุมชนรอบโรงไฟฟ้า เรามีความเชื่อมั่นในหลักการบริหารงานที่เป็นเลิศตามเกณฑ์รางวัลคุณภาพแห่งชาติ จึงนำมาปรับใช้ในการบริหารงาน เพื่อพัฒนาระบบการทำงานแบบบูรณาการ ตอบสนองความต้องการและสร้างคุณค่าร่วมกับผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่มอย่างสมดุลและยั่งยืน พร้อมนำข้อเสนอแนะมาเป็นโอกาสในการพัฒนา ปรับปรุง กระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้ พัฒนาการทำงานที่เชื่อมโยงเป็นระบบ ส่งผลให้มีการดำเนินงานผลิตพลังงานไฟฟ้าดีต่อเนื่องขึ้นทุกปี รวมถึงมีการควบคุมมลสารที่ออกจากกระบวนการผลิตและควบคุมคุณภาพน้ำทิ้งได้ในเกณฑ์ที่ดีกว่ากฎหมายกำหนด ด้วยความทุ่มเทและมุ่งมั่นของทุกคนในองค์กร ทำให้โรงไฟฟ้าน้ำพองได้รับรางวัลการบริหารสู่ความเป็นเลิศ หรือ TQC ในปี 2559 ซึ่งจะเป็นแรงผลักดันให้ทุกคนพัฒนาโรงไฟฟ้าน้ำพองให้เป็นแหล่งผลิตไฟฟ้าหลักของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้แก่ประเทศอย่างยั่งยืนต่อไป
ทั้งนี้ กฟผ. นำแนวทางการบริหารคุณภาพทั่วทั้งองค์กร (Total Quality Management : TQM) มาใช้ในหน่วยงานตั้งแต่ปี 2546 เพื่อสร้างระบบงานให้มีคุณภาพ และส่งเสริมให้ทุกหน่วยงานนำระบบมาตรฐานสากล ISO 9000 , ISO 14001 มาใช้เพื่อให้สาธารณชนเกิดความมั่นใจในกระบวนการทำงาน โดยมีการปรับปรุงกระบวนการทำงานให้มีประสิทธิภาพ มุ่งเน้นประโยชน์สูงสุดทั้งต่อองค์กรและต่อประชาชน รวมทั้งใส่ใจในสิ่งแวดล้อมและชุมชนโดยรอบ ซึ่งส่งผลให้ กฟผ. ได้รับรางวัล TQC จากการบริหารงานที่เป็นเลิศของโรงไฟฟ้าน้ำพองและโรงไฟฟ้าบางปะกง โดยที่ผ่านมา โรงไฟฟ้าแม่เมาะได้ปรับปรุงกระบวนการทำงาน เพื่อปรับให้มีการบริหารงานที่มีคุณภาพสอดคล้องกับเกณฑ์รางวัลคุณภาพแห่งชาติ จนได้รับรางวัล TQC ครั้งที่ 1 ในปี 2556 และครั้งที่ 2 ในปี 2558 ซึ่ง กฟผ.จะมุ่งมั่นส่งเสริมให้การบริหารงานมีประสิทธิภาพที่ดียิ่งขึ้น โดยเชื่อมั่นว่าอนาคตจะพัฒนาการทำงานจนได้รับรางวัล TQA ซึ่งมีเกณฑ์การประเมินในระดับที่สูงกว่าได้ในที่สุด

รางวัลคุณภาพแห่งชาติเป็นรางวัลอันทรงเกียรติซึ่งได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง เนื่องจากมีพื้นฐานทางด้านเทคนิคและกระบวนการตัดสินรางวัลเช่นเดียวกับรางวัลคุณภาพแห่งชาติของประเทศสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นต้นแบบรางวัลคุณภาพแห่งชาติที่หลายประเทศทั่วโลกนำไปประยุกต์ใช้ เป็นเครื่องหมายแสดงถึงความเป็นเลิศในการบริหารจัดการขององค์กรที่ทัดเทียมระดับมาตรฐานโลก เริ่มต้นตั้งแต่มีการลงนามในบันทึกความเข้าใจระหว่างสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติและสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2539 โดยมีสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติเป็นหน่วยงานหลักในการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อเผยแพร่ สนับสนุน และผลักดันให้องค์กรต่างๆ ทั้งภาคการผลิตและการบริการนำเกณฑ์รางวัลคุณภาพแห่งชาติไปพัฒนาขีดความสามารถด้านการบริหารจัดการ และองค์กรที่ได้รับรางวัลจะนำเสนอวิธีปฏิบัติที่นำองค์กรของตนไปสู่ความสำเร็จเพื่อเป็นแบบอย่างให้องค์กรอื่นๆ นำไปประยุกต์ใช้ให้ประสบผลสำเร็จเช่นเดียวกัน