พิธีผูกเสี่ยวมีที่เดียวในโลกจริงหรือ...งานเทศกาลไหมสากลฯขอนแก่น
การผูกเสี่ยว หรือพิธีผูกเสี่ยว จัดเป็นประเพณีเก่าแก่ และดีงามพิธีหนึ่งของชาวภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ได้ประพฤติปฎิบัติสืบทอดกันมาเป็นเวลานานนับศตวรรษ จังหวัดขอนแก่นได้เล็งเห็นความสำคัญของพิธีผูกเสี่ยวนี้ จึงได้นำพิธีผูกเสี่ยวผนวกเข้ากับงานเทศกาลไหมฯ ซึ่งเป็นงานประจำปี ของจังหวัดขอนแก่น ตั้งแต่ปี 2523 เป็นต้นมา
หลายท่านคงสงสัยว่า พิธีผูกเสี่ยวนี้มีความสำคัญอย่างไร จังหวัดขอนแก่น จึงนำมารวมเป็น งานเดียวกับงานเทศกาลไหมประจำปีของจังหวัดขอนแก่น
คำว่า "เสี่ยว" เป็นภาษาอีสานแท้ๆ ซึ่งชาวอีสานทุกคนต่างมีความซาบซึ้งกับคำๆนี้ เป็นอย่างดี และเป็นคำที่มีความหมายไปในทางที่ดีงามอีกด้วย แต่เป็นที่น่าเสียดายที่ชาวภาคอื่นๆ ยังไม่เข้าใจความหมายที่แท้จริงของคำว่า เสี่ยว และนำไปใช้ในทางที่ผิดๆ เช่น เข้าใจว่าเสี่ยว หมายถึงพวกบ้านนอกคอกนา พวกโง่เง่าเต่าตุ่น เป็นต้น แถมใช้คำพูดในเชิงดูหมิ่น ดูแคลน หนักไปกว่านั้น คือ เติมคำนำหน้าลงไปอีกว่า บักเสี่ยว ซึ่งถ้าพูดถึงบักเสี่ยวแล้วจะหมายถึง พวกเซ่อๆซ่าๆ ที่มาจากอีสาน
แต่อันที่จริงแล้วคำว่า "เสี่ยว" เป็นคำที่มีความหมายในทางที่ดีงาม เพราะหมายถึง มิตรแท้ เพื่อนแท้ หรือเพื่อนตาย ซึ่งมีความซื่อสัตย์ ความจริงใจต่อกัน มีความผูกพันทางด้านจิตใจกันอย่างจริงใจ และเต็มใจ และไม่มีอำนาจใดๆ จะมาพรากให้จากกันได้แม้แต่ความตาย ทั้งนี้ความผูกพันของเสี่ยวนี้ไม่มีเฉพาะกับเสี่ยวเท่านั้น หากมีความหมายผูกพันเชื่อมโยงไปถึงครอบครัว ญาติ พี่น้อง และหมู่บ้านของเสี่ยวด้วย
การผูกเสี่ยว ก็คือ การนำบุคคลสองคนมาผูกพันเป็นมิตรกัน หลักเกณฑ์ในการเลือกคู่เสี่ยวนั้นปกติแล้วมักจะเลือกเพศเดียวกัน ชายก็มีคู่เสี่ยวเป็นชาย หญิงก็มีคู่เสี่ยวเป็นหญิง นอกจากนี้คู่เสี่ยวต้องมีลักษณะ ท่าทาง รูปร่าง หน้าตา อายุ อารมณ์ จิตใจ บุคลิกภาพ ทัศนคติที่คล้ายคลึงกัน หรือเหมือนกันอีกด้วย
พิธีผูกเสี่ยวที่ได้เคยปฏิบัติมาแต่เดิมนั้น ก็คือ เมื่อลูกหลานมีลักษณะคล้ายคลึง และเหมือนกัน มีความรักใคร่สนิทสนมกันจริงๆ แล้ว ผู้ใหญ่ทั้งสองฝ่ายก็จะจัดพิธีผูกเสี่ยวให้ โดยใช้เส้นฝ้ายผูกข้อมือของคู่เสี่ยวแต่ละคน พร้อมทั้งให้โอวาท และอวยพรให้ทั้งคู่เป็นเพื่อนตายต่อกัน บางครั้งก็จะมีการดื่มน้ำสาบานระหว่างคู่เสี่ยวด้วย และเมื่อสาบานเป็นคู่เสี่ยวกันแล้วก็จะช่วยเหลือเกื้อกูลกันทั้งในเรื่องส่วนตัวและสังคม ซึ่งจะมีผลก่อให้เกิดความสงบเรียบร้อย ความร่มรื่น ร่มเย็น เกิดความรักใคร่ สมัครสมานสามัคคี ในครอบครัว ในชุมชน และในกลุ่มสังคมเป็นอย่างมาก
การผูกเสี่ยวนั้น นับว่ามีประโยชน์มากมาย ทั้งในด้านสังคม เศรษฐกิจ การเมือง การปกครองฯ ทั้งนี้ เพราะการมีเสี่ยว หมายถึง การมีเพื่อนตายที่มีความรัก ความจริงใจ ความเข้าใจต่อกันเป็นอย่างดี นับตั้งแต่ตัวของเสี่ยวเอง ครอบครัวต่อครอบครัว หมู่บ้านต่อหมู่บ้าน หรือ อำเภอต่ออำเภอ เป็นต้น ซึ่งความรักความเข้าใจนี้จะช่วยให้บุคคลในสังคมอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติสุขฉันท์พี่น้อง มีอะไรก็สงเคราะห์เกื้อหนุนซึ่งกันและกัน เช่น ถ้าใครมีผักก็นำไปแลกเปลี่ยนกับคู่เสี่ยวที่มีสินค้าอย่างอื่น เช่นปลา ข้าว เป็นต้น การผูกเสี่ยวจึงเท่ากับเป็นการสร้างสรรค์ ความรัก ความเข้าใจ ความสามัคคีระหว่างชนในหมู่บ้าน และในชาติได้เป็นอย่างดี การผูกเสี่ยว จึงเป็นประเพณีอันดีงามของอีสานเรา ที่บรรพบุรุษของเราได้ยึดถือปฏิบัติสืบทอดกันมาเป็นเวลานาน สมควรอย่างยิ่งที่พวกเราชาวไทยทุกคน โดยเฉพาะชาวภาคอีสานจะได้ช่วยกันพิทักษ์รักษาไว้ให้เจริญพูนผลงอกงามยิ่งขึ้น เพื่อเป็นมรดกตกทอดไปยังอนุชนรุ่นหลังสืบไป
...ในภาพ ดร.สมศักดิ์ จังตระกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น เป็นประธานเปิดงาน ได้มีพิธีผูกเสี่ยว คู่เสี่ยวเอกมี 9 คู่ ที่สำคัญๆ ดร.สมศักดิ์ จังตระกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น ผูกเสี่ยวกับ นายเหงียน ง็อก เซิน กงสุลใหญ่เวียดนาม ประจำขอนแก่น รวมทั้งหัวหน้าส่วนราชการต่าง และคู่ของนักฟุตบอลชื่อดังชาวขอนแก่นระหว่าง โจ้ 5 หลา นายศรายุทธ์ ชัยคำดี กับ นายปฏิภัทร รอบรู้ อดีตนักฟุตบอลทีมชาติไทย โดยมีหมอพราหมณ์มาทำพิธีสู่ขวัญให้ ทั้งนี้จะมีพิธีผูกเสี่ยวให้กับคู่เสี่ยวทุกวันตลอด 12 วัน 12 คืน งานเทศกาลไหมสากล ประเพณีผูกเสี่ยวและงานกาชาดประจำปี 2560 ระหว่างวันที่ 29 พ.ย.ถึง 10 ธ.ค.2560 ที่สนามหน้าศาลากลางจังหวัดขอนแก่น
สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดขอนแก่น