ไทยตั้ง 'ฌ็อง-มีแชล อีฟว์ ดีดีเย แปรัว' เป็นกงสุลฯฝรั่งเศส ประจำจังหวัดขอนแก่น
นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้ลงนามประกาศแต่งตั้งให้ นายฌ็อง-มีแชล อีฟว์ ดีดีเย แปรัว (Mr. Jean-Michel, Yves, Didier Perroy) ดำรงตำแหน่งกงสุลกิตติมศักดิ์สาธารณรัฐฝรั่งเศส ณ จังหวัดขอนแก่น โดยมีเขตกงสุลครอบคลุมจังหวัดขอนแก่น เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2560 ซึ่งสถานกงสุลฝรั่งเศส นับเป็นสถานกงสุลฯ แห่งที่ 5 ของจังหวัดขอนแก่นต่อจากสถานกงสุลใหญ่ ลาว เวียดนาม จีน และสถานกงสุลกิตติมศักดิ์เปรู นอกจากนี้ยังมีสถานกงสุลฯ ญี่ปุ่นและอเมริกาอยู่ระหว่างดำเนินการ
สำหรับนายฌ็อง-มีแชล อีฟว์ ดีดีเย แปรัว (Mr. Jean-Michel, Yves, Didier Perroy) อายุ 67 ปี เกิดเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2493(ค.ศ.1950) จบการศึกษาระดับปริญญาตรีด้านกฎหมายมหาชนจากมหาวิทยาลัยรูออง ปัจจุบันเกษียณอายุราชการ โดยมีประสบการณ์การทำงานเป็นผู้อำนวยการด้านบริการที่เมืองมารอม และผู้อำนวยการด้านสหภาพเพื่อความร่วมมือเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจแห่งเมืองรูออง
ทั้งนี้ เพื่อเป็นการดูแลชาวฝรั่งเศสและนักท่องเที่ยวชาวฝรั่งเศสในจังหวัดขอนแก่นและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่ออำนวยความสะดวกให้ได้รับการบริการด้านกงสุลที่สะดวกรวดเร็วขึ้น โดยจะตั้งอยู่ศูนย์ธุรกิจที่โรงแรมเจริญธานี เป็นที่ทำการสถานกงสุลกิตติมศักดิ์สาธารณรัฐฝรั่งเศส ณ จังหวัดขอนแก่น เลขที่ 260 ถนนศรีจันทร์ ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น 40000
ปัจจุบันมีชาวฝรั่งเศสอาศัยอยู่ในจังหวัดขอนแก่นประมาณ 3,000 คน และคาดว่าจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นอีก นอกจากนั้นนักท่องเที่ยวชาวฝรั่งเศสยังสนใจเดินทางท่องเที่ยวในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมากขึ้นเป็นลำดับ
ความสำพันธ์ของไทยกับฝรั่งเศส
ไทยถือว่าเป็นหนึ่งประเทศในเอเชียที่มีความสัมพันธ์กันอย่างยาวนานที่สุดกับประเทศฝรั่งเศส ความร่วมมือระหว่างสองประเทศไม่เคยห่างเหินกันไม่ว่าไทยเปลี่ยนแปลงผู้นำไปอย่างไรทั้งในด้านการค้า วัฒนธรรม การศึกษาและวิทยาศาสตร์ รวมไปจนถึงการทหาร
ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างสองประเทศเริ่มขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อปี 2399 จนถึงตอนนี้ ไทยกับฝรั่งเศสสถาปนาความสัมพันธ์ด้านการทูตมาอย่างยาวนานกว่า 160 ปีแล้ว
หากย้อนกลับไปดูในทางประวัติศาสตร์ ตามที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ของสถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย ระบุว่า ช่วงศตวรรษที่ 17 ประเทศฝรั่งเศสและประเทศสยามได้เริ่มความสัมพันธ์กันอย่างเป็นทางการครั้งแรก คณะทูตจากประเทศไทยได้เดินทางไปเยือนประเทศฝรั่งเศสในปี 2227 และ 2229 โดยได้รับการต้อนรับจากพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 คณะตัวแทนจากฝรั่งเศสหลายคณะได้เดินทางมายังประเทศไทยเพื่อเข้าเฝ้าสมเด็จพระนารายณ์เช่นกัน คณะตัวแทนจากฝรั่งเศสที่มีชื่อเสียงที่สุดคือคณะของ เชอร์วัลลิเยร์ เดอ โชมงต์
ในส่วนของการล่าอาณานิคมในภูมิภาคเอเชียตะวันตกเฉียงใต้ เมื่อปี 2436 วิกฤตการณ์ ร.ศ.112 หรือ กรณีพิพาทระหว่างประเทศสยามและประเทศฝรั่งเศสทำให้ความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสยุโรป 2 ครั้งในปี 2440 และ 2450 สัมพันธภาพดังกล่าวดีขึ้นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งประเทศไทยร่วมมือทางการทหารกับฝรั่งเศส หลังสงครามสิ้นสุด ในปี 2461 ประเทศสยามได้ส่งทหารเข้าร่วมสวนสนามที่ ถนนช็องเอลิเซ่ ประเทศฝรั่งเศส อีกด้วย
ไทยและฝรั่งเศสมีอะไรหลายอย่างคล้ายกัน
แม้ว่าจะแตกต่างทางด้านภูมิศาสตร์ แต่ขนาดพื้นที่ของประเทศไทยและฝรั่งเศสมีความใกล้เคียงกัน ไทยมีพื้นที่ 513,115 ตร.กม ส่วนฝรั่งเศส 675,417 ตร.กม และมีจำนวนประชากรใกล้เคียงกันด้วย ในฝรั่งเศสมีประชากร 64.4 ล้านคน สวนประเทศไทยมี 67.6 ล้านคน
นอกจากนี้ สีบนธงชาติของทั้งไทยและฝรั่งเศสยังมี 3 สีและเรียกว่า "ธงไตรรงค์" (Tricolour) เหมือนกัน คือ สีแดง สีขาว และสีน้ำเงิน แต่ความหมายของสีแตกต่างกัน สำหรับธงชาติไทย สีแดง หมายถึง ชาติ สีขาว หมายถึง ศาสนา สีน้ำเงิน หมายถึง พระมหากษัตริย์ ส่วนสีบนธงชาติฝรั่งเศส (ตามข้อมูลเว็บไซต์ gouvernenment.fr) ระบุว่าสีขาวคือสีประจำสถาบันกษัตริย์ ส่วนสีน้ำเงินและสีแดงเป็นสีประจำกรุงปารีส
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- 'สาธารณรัฐฝรั่งเศส' เตรียมเปิดสถานกงสุลกิตติมศักดิ์ ณ จังหวัดขอนแก่น
- ฝรั่งเศส ประกาศเกียรติ มอบอิสริยาภรณ์ แก่อธิการบดี มข. - ครม.อนุมัติให้เปิดสถานกงสุลฯฝรั่งเศส ณ จังหวัดขอนแก่น
ดูข้อมูลเพิ่มเติม
สถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประเทศไทย