จัดใหญ่สัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ ณ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มีคลิป)
จัดใหญ่สัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ มข.เผยนักเรียนทั่วอีสานสมัครร่วมกิจกรรมทะลุ 2,000 คน พร้อมจัดโตวต้าพิเศษผู้ชนะเลิศการแข่งขันวิทยาศาสตร์ลำดับ 1-3 เข้าเรียนที่ มข.ได้ทันที
เมื่อเวลา 15.00 น. วันที่ 16 ส.ค.2561 ผู้สื่อข่าวรายงานว่าที่คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น หรือ มข. ได้มีนักเรียนนักศึกษาจากสถาบันการศึกษาต่างๆในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเดินทางมาร่วมกิจกรรมสัปดาห์วันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ ประจำปี 2561 กันอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งวัน โดยที่ในวันนี้เป็นวันแรกของการกำหนดจัดกิจกรรมในหัวข้อ150 ปี วิทยาศาสตร์ไทย ที่ได้รับความสนใจสถาบันการศึกษาในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นำนักเรียน และนักศึกษาเข้าร่วมชมงานและร่วมกิจกรรมในฐานการเรียนรู้ต่างๆกันเป็นจำนวนมาก
ผศ.ดร.สมเกียรติ ศรีจารนัย คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มข. กล่าวว่า ตามที่พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ได้บันทึกไว้ว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงพระปรีชาสามารถทำนายการเกิดปรากฏการณ์สุริยุปราคา ในวันที่ 18 ส.ค.พ.ศ. 2411 ที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ได้ล่วงหน้าถึง 2 ปี ซึ่งในคราวนั้นเกิดสุริยุปราคาเต็มดวง นาน 6 นาที สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ในช่วงก่อนปี พ.ศ. 2525 จึงดำริให้มีการศึกษาว่าเป็นจริงตามหลักวิชาดาราศาสตร์เพียงไร ซึ่งคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดย ผศ.ดร. ขาว เหมือนวงศ์ อดีตอาจารย์ประจำภาคฟิสิกส์ ได้รับมอบหมายจากสมาคมวิทยาศาสตร์ ฯ ให้พิสูจน์การทรงคำนวณการเกิดสุริยุปราคาของพระองค์ท่าน และได้ข้อสรุปว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 ทรงคำนวณด้วยพระองค์เอง โดยใช้วิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์สมัยใหม่ ดังนั้นในวาระสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี ในปี พ.ศ. 2525 สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย ฯ จึงได้นำเสนอรัฐบาลให้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต ถวายพระราชสมัญญาแด่พระองค์ท่านว่า "พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย" เพื่อเทิดพระเกียรติ และกำหนดให้วันที่ 18 สิงหาคม ของทุกปีเป็น "วันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ"
“พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระอัจฉริยภาพทางดาราศาสตร์อย่างแท้จริง อาทิเช่น ดังที่ปรากฏในพระราชหัตถเลขาการคำนวณเวลาการเกิด ย่ำค่ำ ย่ำรุ่ง เป็นรายวัน เพื่อให้เจ้าพนักงานรักษาเวลาของนาฬิกาบนพระที่นั่งภูวดลทัศไนยที่โปรดให้สร้างในพระบรมมหาราชวัง ต่อมาได้ทรงกำหนดให้ใช้เส้นลองกิจูด 100 องศาตะวันออก ซึ่งผ่านพระนครคีรี จังหวัดเพชรบุรี เป็นเส้นแวงหลักสำหรับเวลามาตรฐานประเทศไทยใช้อ้างอิง นับตั้งแต่ พ.ศ. 2400 ก่อนหน้าที่จะมีการประกาศใช้เส้นแวงที่ผ่านเมืองกรีนิชเป็นเส้นแวงหลักดังที่ใช้กันในปัจจุบัน และพระองค์ได้ทรงใช้ระบบเวลาอ้างอิงที่เส้นแวง 100 องศาตะวันออก เพื่อทรงคำนวณการเกิดสุริยุปราคาที่หว้ากอ การทรงสถาปนาระบบเวลามาตรฐานนับได้ว่าเป็นการวางรากฐานทางวิทยาศาสตร์ให้แก่ชาติไทยไว้อย่างมั่นคง”
คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ กล่าวต่ออีกว่า สัปดาห์วันวิทยาศาสตร์ในปีนี้นั้น มีนักเรียน นักศึกษาจากสถาบันการศึกษาในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเข้าร่วมการประกวดและแข่งขันกิจกรรมต่างๆรวมทั้งสิ้น 2,186 คน จากจำนวน 129 สถาบันการศึกษา โดยผู้ที่ชนะเลิศลำดับที่ 1-3 ของแต่ละการประกวดหรือกิจกรรมจะได้สิทธิ์เข้าศึกษาต่อที่คณะวิทยาศาสตร์ มข.ทันที อย่างไรก็ตามกิจกรรมงานสัปดาห์วันวิทยาศาสตร์แห่งชาติในปีนี้นั้นได้กำหนดจัดให้มีการแสดงนิทรรศการ “150 ปี วิทยาศาสตร์ไทย” นิทรรศการเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในฐานะทรงเป็น “พระบิดาแห่งเทคโนโลยีของไทย” และ “พระบิดาแห่งนวัตกรรมไทย”,นิทรรศการเทิดพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพวรางกูร รวมทั้งการบรรยายพิเศษ เรื่อง “150 ปี สุริยุปราคาหว้ากอ ในพระองค์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย” การประกวดและแข่งขันทางวิชาการด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และคอมพิวเตอร์ ในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย อีกด้วย