คณะสัตวแพทยศาสตร์ มข.จัดประชุมวิชาการนานาชาติทางสัตวแพทย์ (KVAC)
คณะสัตวแพทยศาสตร์ มข.จัดประชุมวิชาการนานาชาติทางสัตวแพทย์ (KVAC) ปี 62 มีเป้าหมายให้สัตว์ มีสุขภาพดีและสิ่งแวดล้อมปลอดภัยเป็นหนึ่งเดียว หลังจากโรคติดเชื้ออุบัติใหม่หลายโรคที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งและมีรูปแบบที่แตกต่างไปจากที่เคยมีมาแต่ก่อน
เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 21 มี.ค. รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้มาเป็นประธานเปิดโครงการประชุมวิชาการนานาชาติทางสัตวแพทย์ (Khon Kaen Veterinary Annual International Conference; KVAC) ครั้งที่ 20 ณ โรงแรมอวานี จังหวัดขอนแก่น โดย รศ.น.สพ.ดร.ชูชาติ กมลเลิศ คณบดีคณะสัตวแพทยศาสตร์ ม.ขอนแก่น จัดประชุม มีผู้เข้าร่วมในการประชุมวิชาการกว่า 600 คน ในจำนวนนี้เป็นศิษย์เก่าของคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นกว่า 200 คน นอกจากนั้นยังมีผู้เข้าร่วมประชุมทั้งจากในและต่างประเทศเข้าร่วมอีกจำนวนมาก อาทิเช่น สปป.ลาว ,บังคลาเทศ, เวียดนาม, และอินโดนีเซีย
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการถ่ายทอดองค์ความรู้ในด้านต่างๆที่เกี่ยวข้องกับวิชาชีพการสัตวแพทย์และสาขาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง นำเสนอข้อมูลความรู้ เทคโนโลยีทางวิชาการที่ทันสมัยและเป็นปัจจุบัน แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องที่ส่งผลต่อสุขภาพคนและสัตว์ สร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างนักวิชาการสถาบันและหน่วยงานต่างๆ นำเสนอผลงานวิชาการในสาขาสัตวแพทย์และสาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพ เพิ่มพูนความรู้ทางด้านวิชาการให้แก่ศิษย์เก่าคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นและเป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมความร่วมมือและเครือข่ายของศิษย์เก่าและสถาบันการศึกษา
รศ.น.สพ.ดร.ชูชาติ กมลเลิศ คณบดีคณะสัตวแพทยศาสตร์ ม.ขอนแก่น กล่าวว่า ในการจัดประชุมวิชาการนานาชาติทางสัตวแพทย์ ครั้งนี้ เพื่ออัพเดทความรู้ทางวิชาการทางสัตวแพทย์ให้กับผู้เกี่ยวข้อง เช่น คุณหมอรักษาสัตว์ในคลินิก และโรงพยาบาลสัตว์ คุณหมอทำงานในภาคส่วนราชการ กรมปศุสัตว์ และคณาจารย์ในมหาวิทยาลัยพร้อมนักศึกษาในคณะสัตวแพทย์ในมหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยเฉพาะในการประชุมครั้งนี้ได้มีบุคคลในส่วนที่เกี่ยวข้อง จาก สปป.ลาว, เวียดนาม,บังคลาเทศ และประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เข้าร่วมประชุม โดยมีวิทยากรมาให้ความรู้ในด้านสัตวแพทย์จากประเทศสหรัฐอเมริกา บังคลาเทศ มาให้ความรู้ในด้านรักษาสัตว์ พร้อมการดูแลโรคต่างๆใน ม้า ,สุกร,สัตว์ปีก,สัตว์เลี้ยงประเภทสุนัข /แมว และปัญหาเชื้อดื้อยา
"เนื่องจากในปัจจุบันสุขภาพของคนและสัตว์ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆ ที่อาจส่งผลให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคในคนและสัตว์ นอกจากนี้ยังพบว่ามีโรคติดเชื้ออุบัติใหม่หรือโรคอุบัติซ้ำหลายโรคที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งและมีรูปแบบที่แตกต่างไปจากที่เคยมีมาแต่ก่อน ทำให้การควบคุมป้องกันโรคทำได้ยากหรือมีวิธีการที่ซับซ้อนมากขึ้น การแพร่ระบาดของโรคระหว่างคนและสัตว์ทำให้ต้องมีการพัฒนาปรับปรุงระบบทางการแพทย์ การจัดการดูแลของอุตสาหกรรมการเลี้ยงสัตว์ตลอดจนการควบคุมป้องกันโรคที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายหน่วยงาน ดังนั้น ความร่วมมือของประเทศต่างๆ รวมทั้งองค์กรทุกภาคส่วนภายในประเทศ เพื่อให้คนและสัตว์ มีสุขภาพดีและสิ่งแวดล้อมปลอดภัย โดยมีเป้าหมายว่าให้เกิดสุขภาพหนึ่งเดียว (Global Health)"รศ.น.สพ.ดร.ชูชาติ กมลเลิศ คณบดีคณะสัตวแพทยศาสตร์ ม.ขอนแก่น กล่าว.