บึงทุ่งสร้างวิกฤติ "ปลาซัคเกอร์" จอมทำลายระบบนิเวศ! เต็มบึง   


28 พฤษภาคม 62 20:50:30

ขอนแก่นเดือดร้อนหนักพบ"ปลาซัคเกอร์"แพร่กระจายพันธุ์เต็มบึงทุ่งสร้าง วอนเร่งกำจัดด่วน..หวั่นระบบนิเวศพัง ปลาท้องถิ่นหลายสายพันธุ์หมดบึง

    เมื่อเวลา 16.00 น. วันที่ 28 พ.ค. รายงานข่าวแจ้ง ว่า  นายสุระชัย กลิ่นเกสร อายุ 54 ปี ชาวบ้านในเขตเทศบาลนครขอนแก่น หนึ่งในชาวบ้านท้องถิ่นกลุ่มคนหาปลาในสวนสาธารณะบึงทุ่งสร้าง ถ.จอมพล ต.ในเมือง อ.เมือง จ.ขอนแก่น  บอกกับผู้สื่อข่าวว่า มาหาจับปลาที่บึงทุ่งสร้างเป็นประจำ ส่วนหนึ่งเอาไว้ทำอาหารกินกันเองในครอบครัว หากจับได้มากกว่านั้นก็จะแบ่งขายเป็นรายได้ แต่ช่วงหลังๆ 2-3 ปีที่ผ่านมาปลาที่จับได้ส่วนใหญ่จะเป็นปลาซัคเกอร์ นอกจากนี้ชาวบ้านที่มีอาชีพประมงพื้นบ้านหรือนักตกปลาสมัครเล่นต่างประสบปัญหาปลาที่จับได้ส่วนมากเป็นปลาซัคเกอร์ เช่นกัน  ซึ่งเป็นปลาที่ไม่สามารถนำไปประกอบอาหารได้ ในขณะที่ปลาสายพันธุ์ท้องถิ่นอื่นๆ ปริมาณลดลงเรื่อยๆ แทบจะจับกันไม่ได้เลย ไม่ว่าจะเป็นปลานิล ปลาสวาย ปลาตะเพียนขาว ปลายี่สก ฯลฯ โดยปลาซัคเกอร์ที่ถูกจับได้จะถูกโยนทิ้งบนตลิ่ง มีให้เห็นทุกไซส์ เพื่อให้มันตายไม่ต้องแพร่พันธุ์ในบึงทุ่งสร้างได้อีก


    ตนเชื่อว่าปัจจุบันปลาซัคเกอร์ได้ขยายพันธุ์จนเต็มบึงทุ่งสร้าง ตาข่ายที่ซื้อมาดักปลาจากเดิมเคยซื้อ ใช้หาปลาได้หลายครั้ง แต่ปัจจุบันใช้ได้เพียง 1 ถึง 2 ครั้ง เพราะปลาซัคเกอร์มาติดตาข่ายจำนวนมาก จนไม่สามารถจะปลดออกได้หรือถ้าหากปลดออกตาข่ายก็จะเสียหาย เพราะเงี่ยงปลาซัคเกอร์ไปพัน ต้องดึงออกทำให้ตาข่ายฉีกขาด อยากให้มีการกำจัดปลาซักเกอร์อย่างจริงจัง เพราะเป็นปลาที่จะทำให้ปลาท้องถิ่นสูญพันธุ์ในบึงทุ่งสร้าง

ผศ.ดร.พรเทพ เนียมพิทักษ์ สาขาวิชาประมง คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นผศ.ดร.พรเทพ เนียมพิทักษ์ สาขาวิชาประมง คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

   ผู้สื่อข่าวได้เดินทางไปที่ห้องปฎิบัติการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เข้าพบกับ ผศ.ดร.พรเทพ เนียมพิทักษ์ สาขาวิชาประมง คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ระบุว่า ปลาซัคเกอร์เป็นปลาที่มีถิ่นกำเนิดในทวีปอเมริกากลางจนถึงอเมริกาใต้ที่ถูกนำเข้ามาในประเทศไทยเมื่อประมาณ 40 ปีที่แล้ว นำมาเลี้ยงเป็นประเภทปลาสวยงาม และถูกปล่อยในแหล่งน้ำธรรมชาติ ซึ่งเป็นปลาที่มีเกาะคุ้มตัวทำให้สัตว์น้ำ หรือศัตรูของเขากินได้ยาก และแพร่กระจายในแหล่งน้ำธรรมชาติค่อนข้างเยอะ มีนิยมบริโภคค่อนข้างน้อย

    จึงเกิดผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมเพราะปลาชัคเกอร์ใช้ปากดูดกินไข่ของสัตว์น้ำในท้องถิ่นนั้นๆ จึงทำให้ปลาประเภทอื่นๆลดจำนวนลง นอกจากนี้ปลาท้องถิ่นอื่นๆถูกแย่งอาหารอีกด้วย จึงทำให้ปลาท้องถิ่นลดจำนวนลงอย่างรวดเร็ว วิธีกำจัดจึงต้องปล่อยให้เขาตายโดยธรรมชาติ ด้วยการจับขึ้นบกเท่านั้น ไม่ใช้สารเคมีเด็ดขาดเพราะจะไปฆ่าสัตว์น้ำตัวอื่นๆด้วย ถ้าไม่รีบกำจัดปลาชัคเกอร์จะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยเขาจะวางไข่ในโพรง ลูกออกมาจะมีลักษณะคล้ายพ่อแม่ ไม่กี่วันก็จะมีเกาะคุ้มตัวเขาและเป็นปลาที่ตายยาก มีอายุ 10 ปี จนถึง 50 ปี ตัวใหญ่สุดยาวประมาณ 20 - 50 ซม. จะวางไข่ 1 ตัว ประมาณ 3,000- 6,000 ฟอง ในเรื่องของสิ่งแวดล้อมจึงน่าเป็นห่วงมากที่สุดเพราะจะทำให้ปลาในท้องถิ่นหลายประเภทหมดไปด้วยปลาชักเกอร์

    "ปลาซัคเกอร์ นับเป็นปัญหาทางระบบนิเวศในแหล่งน้ำที่ส่งผลกระทบกับการประมง สืบเนื่องมาจากน้ำมือมนุษย์เอง ที่นำเข้ามาเลี้ยงจากจุดเริ่มต้นคือใช้ประโยชน์ในการดูดทำความสะอาดตู้ปลา แต่ทว่าเมื่อตัวมันเจริญเติบโต รูปลักษณ์ที่น่ากลัวทำให้มนุษย์มักง่าย ทำลายด้วยการนำไปปล่อยทิ้งตามแหล่งน้ำ และอีกสาเหตุคือความเชื่อที่ว่า ปลาซัคเกอร์ คือ ปลาราหู ที่มักจะเป็นที่นิยมใช้ในการปล่อยเพื่อสะเดาะเคราะห์ และนั่นคือต้นเหตุของการทำลายธรรมชาติระบบนิเวศทางน้ำ"ผศ.ดร.พรเทพ เนียมพิทักษ์ กล่าว

  ติ๊ก  บังอร  ขอนแก่น  /  รายงาน







เว็บโฮสติ้ง

เว็บโฮสติ้ง   Cloud Web Hosting   Streaming Server   VPS