มข.เปิดตัวนวัตกรรมสุดล้ำ "โดรนวัดความหวานอ้อยในไร่" (มีคลิป)
มข.จับมือเอกชนผลิตโดรนตรวจวัดปริมาณความหวานของอ้อย- ฉีดพ่นสารเคมีทางการเกษตร และงานสำรวจพื้นที่ ตอบโจทย์ไทยแลนด์ 4.0. ชัดเจน
เมื่อเวลา 16.00 น. วันที่ 26 ก.ค. 2562 ที่อาคาร อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มหาวิทยาลัยขอนแก่น รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล รักษาการอธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น หรือ มข. พร้อมด้วยนักวิชาการ มข. ร่วมกันเปิดตัวโครงการ "Field Practice Solutions (FPS) - ที่ปรึกษาทุกปัญหาเรื่องไร่” ซึ่งเป็นโครงการภายใต้แผนงาน Spearhead ด้านเศรษฐกิจ ของ สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) และ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ในการพัฒนาอากาศยานไร้คนขับ เพื่อประเมินความหวานอ้อย การประเมินผลผลิตอ้อย โดยมี รศ.ดร.ขวัญตรี แสงประชาธนารักษ์ ภาควิชาวิศวกรรมเกษตร คณะวิศวกรรมศาสตร์ มข. เป็น หัวหน้าโครงการ เป็นความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยขอนแก่น บริษัท HG Robotics และ บริษัท Global crop ในการพัฒนาเทคโนโลยี และมี บริษัท อุตสาหกรรมน้ำตาลบ้านไร่ บริษัท น้ำตาลสระบุรี จำกัดและบริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เป็นส่วนสนับสนุนข้อมูล และทดลองใช้งาน
รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล รักษาการอธิการบดี มข. กล่าวว่า การพัฒนาผลงานด้านนวัตกรรม และการส่งเสริมวิสาหกิจให้เกิดความก้าวหน้าทางด้านวิชาการและความรู้วิทยาการใหม่ๆ เป็นสิ่งที่สำคัญที่ มข. จะพัฒนาและให้เกิดการต่อยอดและร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน เพื่อพัฒนาผลงานนวัตกรรมในการต่อยอดเชิงพาณิชย์ ให้เป็นที่ยอมรับพร้อมทั้งก้าวสู่ระดับประเทศและระดับสากล โดยเฉพาะด้านการเกษตรที่มีการนำเทคโนโลยีเกษตรแม่นยำมาเป็นส่วนหนึ่งในแผนการพัฒนาประเทศ ท่ามกลางการแข่งขันในตลาดโลก
รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล รักษาการอธิการบดี มข.
"เรามีต้นทุนการผลิตในภาคเกษตรที่สูงกว่าประเทศคู่แข่ง การที่จะลดต้นทุนการผลิตดังกล่าวได้จำเป็นต้องมีการบริหารทรัพยากรที่ต้องใช้ในแต่ละแปลง แต่ละช่วงเวลา ให้มีประสิทธิภาพสูงสุดซึ่งในการที่จะสร้าง การพัฒนาระบบที่สามารถติดตามและตรวจวัดปริมาณและคุณภาพของผลผลิตในแปลงเกษตรที่แม่นยำ โดยอากาศยานลำดังกล่าวนี้จะเน้นในกลุ่มที่มีศักยภาพสูง คือ กลุ่มอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล"
รศ.นพ.ชาญชัย กล่าวต่ออีกว่า การใช้โดรนเข้าไปสำรวจและนำข้อมูลไปใช้ในการวางแผน สามารถเพิ่มผลิตต่อไร่จำนวนมากจะส่งเสริมให้เกษตรมีรายได้เพิ่มขึ้น ซึ่งภาคเอกชน และเกษตรกร จะสามารถวางแผนการผลิตและการจำหน่ายได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจัดเป็นนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์แก่ผู้ประกอบการและเกษตรกรได้อย่างดีอีกด้วย